ปตท.สผ. เผยความคืบหน้าการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2565 ตามแผนงาน โดยมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากโครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการจี 1/61 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมเร่งดำเนินงานตามแผนเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61 ริเริ่มพัฒนาโครงการ CCS และเดินหน้าแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จากผลการดำเนินงานดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงอนุมัติเงินปันผลระหว่างกาล 4.25 บาทต่อหุ้น
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า หลังจากการที่ ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการจี 1/61 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการติดตั้งแท่นหลุมผลิตไปแล้ว 2 แท่น และจะติดตั้งแท่นที่เหลืออีก 6 แท่น ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 วางท่อใต้ทะเลทั้งหมด 8 เส้น โดยจะเร่งเจาะหลุมผลิตใหม่เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต รองรับความต้องการใช้พลังงานและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ สำหรับความคืบหน้าของโครงการในต่างประเทศ ปตท.สผ. ได้เริ่มผลิตน้ำมันดิบจากโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ แล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายการผลิตที่อัตรา 13,000 บาร์เรลต่อวัน
สำหรับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำนั้น ปตท.สผ. ได้ริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกของประเทศไทยที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย และคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนช่วงปลายปี 2566
ปตท.สผ.ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและพัฒนา CCS ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย และยังมีความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ในโครงการ CCS Hub Model เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง และล่าสุด ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่ม ปตท. กับภาครัฐและเอกชนรายอื่น ๆ เพื่อจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS จากภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยให้เกิดเป็นรูปธรรม
ด้านความคืบหน้าตามแผนงานในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนนั้น ปตท.สผ.ได้ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการปล่อย “ทุ่นกระแสสมุทร” หรือ Ocean Current Mapper เพื่อติดตามกระแสน้ำผ่านระบบดาวเทียมและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ การเคลื่อนที่ของขยะทะเล รวมถึงไมโครพลาสติก รวมทั้ง ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการเตือนภัยล่วงหน้าทางทะเล และผลกระทบที่เกิดจากโลกร้อน โดยได้ทำการปล่อยทุ่นกระแสสมุทรทุ่นแรกบริเวณโครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย นับเป็นการปล่อยทุ่นศึกษาการไหลเวียนของกระแสน้ำในทะเลไกลฝั่งครั้งแรกในประเทศไทย และจะมีการปล่อยอย่างต่อเนื่องทุกเดือนจนถึงกลางปี 2566 เพื่อติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลอนุรักษ์ท้องทะเล
สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 4,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 153,528 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3,546 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 109,658 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 446,519 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือร้อยละ 8 จาก 413,168 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เป็นผลมาจากการรับรู้ปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของโครงการโอมาน แปลง 61 และปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ ปตท.สผ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
จากผลประกอบการดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกที่ 918 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 31,119 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ที่มีกำไรสุทธิ 598 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 18,673 ล้านบาท) โดยมีต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) อยู่ที่ 27.72 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 76 ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2565 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 2,469 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 84,955 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 600 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,600 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 89 เมื่อเทียบกับ 318 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 10,519 ล้านบาท) ของไตรมาส 1 ปีนี้ โดยเป็นผลมาจากปริมาณการขายของโครงการจี 1/61 และราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาประเทศช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ปตท.สผ. ได้นำรายได้ส่งให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง โบนัสการผลิต และส่วนแบ่งผลประโยชน์ต่าง ๆ ประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
อนุมัติจ่ายเงินปันผล 4.25 บาทต่อหุ้น จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2565 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 16 สิงหาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 26 สิงหาคม 2565
“ผลการดำเนินงานในครึ่งแรกของปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแผนงานที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ยังได้หาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต โดยมีความคืบหน้าการดำเนินงานและความร่วมมือในหลายด้าน เช่น CCS และ CCUS ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว รวมทั้ง ได้เริ่มการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่โครงการเอส 1 กำลังการผลิตประมาณ 10 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับใช้ในโครงการเอส 1 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตไฟฟ้าได้ในไตรมาส 1 ปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะมีความคืบหน้าการลงทุนตามแผนงานต่อไป” นายมนตรี กล่าว
ข่าวเด่น