กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) แถลงผลประกอบการครึ่งปีแรก 2565 ดีต่อเนื่อง โดยหลักมาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อเติบโตร้อยละ 10 จากเมื่อสิ้นปี 2564 โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อยที่รองรับความต้องการจากกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทำให้ในครึ่งปีหลัง 2565 กลุ่มธุรกิจฯ มุ่งเติบโตแบบมีกลยุทธ์ ต่อยอดศักยภาพธุรกิจผ่านเทคโนโลยี พร้อมการเตรียมการช่วยเหลือลูกค้าที่อาจยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1 เมื่อเทียบกับปี 2564
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า “ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรครึ่งปีแรก 2565 อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสินเชื่อธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยสินเชื่อรวมขยายตัวถึงร้อยละ 10 ด้านธุรกิจตลาดทุน รายได้กระจายตัวตามลักษณะธุรกิจ โดยธุรกิจนายหน้ายังคงครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งของตลาดที่ร้อยละ 18.18 และธุรกิจการลงทุนเติบโตดีจากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) ที่ทำกำไรได้ดีในสภาวะผันผันผวน ด้านวานิชธนกิจมีจำนวนธุรกรรมลดลงในช่วงต้นปี แต่ยังคงมีธุรกรรมขนาดใหญ่หลายรายการในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Asset Under Advice, AUA) อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับลดการตั้งสำรองสอดรับกับคุณภาพที่ดีของพอร์ตสินเชื่อใหม่ และอัตราการชำระคืนของลูกหนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยตั้งสำรองเป็นจำนวน 1,878 ล้านบาท ลดลงกว่าปีก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป กลุ่มธุรกิจฯ ยังคงต่อยอดการประสานธุรกิจธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน เพื่อพัฒนาบริการที่ครบถ้วนและไร้รอยต่อสำหรับลูกค้า ตลอดจนกระจายแหล่งรายได้รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจทวีความผันผวนในอนาคต โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่ลดข้อจำกัดด้านขนาดหรือเครือข่ายและทำให้ธนาคารแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม อาทิ ธุรกิจ KKP Edge ที่นำเสนอบริการ Wealth Management ในแบบที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หรือธุรกิจ Dime ที่กำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบ Digital ในเร็วๆ นี้ พร้อมกันนั้น กลุ่มธุรกิจฯ ยังคงไม่ละเลยการลงทุนในด้านระบบสำหรับธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อที่กลุ่มธุรกิจฯ เชื่อว่ายังมีศักยภาพสำหรับการเติบโตและเป็นองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจ โดยสำหรับทั้งปีนี้ กลุ่มธุรกิจฯ มีเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมร้อยละ 16
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจฯ มองว่าสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมยังน่ากังวลจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ผนวกกับภาวะปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง กลุ่มธุรกิจฯ จึงเตรียมพร้อมสำหรับช่วยเหลือลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ทั้งนี้ โดยมุ่งให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยั่งยืน มากกว่ามาตรการเฉพาะหน้า เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง”
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดในส่วนของธนาคารพาณิชย์ว่า “สำหรับระยะที่ผ่านมา นโยบายการเติบโตสินเชื่อแบบมีกลยุทธ์ (Smart Growth) นั้นให้ผลที่ดี โดยช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาการเติบโตของรายได้และกำไรแม้ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว และในขณะเดียวกัน มาตรการคัดกรองและบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพยังรักษาคุณภาพของสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยสินเชื่อของธนาคารครึ่งปีแรก 2565 มีรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยถึงร้อยละ 69 โดยหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่าร้อยละ 11 หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้นร้อยละ 19
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป ธนาคารยังคงต่อยอดจากธุรกิจที่มีความชำนาญ ไม่ว่าการปรับปรุงระบบและกระบวนการภายในเพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้นผ่านแอป KKP Mobile การเดินหน้าผลิตภัณฑ์ ใหม่อย่างสินเชื่อ 'รถเรียกเงิน' รวมทั้งการขยายเครือข่ายการให้บริการผ่านการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีความแข็งแกร่ง นอกจากนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารยังมุ่งเสริมสร้างความแข็งแรงทางการเงินให้กับลูกค้าผ่านการเชื่อมโยงบริการธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจฯ มากขึ้นเรื่อยๆ”
ด้านนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2565 ว่า “กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 672 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับครึ่งแรกของปี 2565 ปรับลดลงตามคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 169.1 นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 8,779 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากครึ่งปีแรก 2564 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงถึงสิ้นไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ร้อยละ 16.56 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 12.99”
KKP เตือนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ ‘จักรวาลคู่ขนาน’ สถานการณ์เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และโลกาภิวัตน์เปลี่ยนโฉมสิ้นเชิง
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์แวดล้อมด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เปลี่ยนไปอย่างมาก จนอาจเปรียบเทียบได้กับการเข้าไปในอีกจักรวาลคู่ขนาน ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังเปลี่ยนไป ความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มีมากขึ้นจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานโลก การเปลี่ยนผ่านจากภาวะเงินเฟ้อต่ำสู่ภาวะเงินเฟ้อสูง และภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งนับเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับปีนี้ KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ โดยคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 3.3% จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การขยายตัวของการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวที่กลับมามากกว่าที่คาด และรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีความน่ากังวลหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงอย่างชัดเจน และหลายภาคเศรษฐกิจยังไม่กลับไประดับก่อนเกิดปัญหาโควิด นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังเจอความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับขึ้นตัวสูงขึ้น ในขณะที่รายได้และเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับตัวเป็นขาขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอยในระยะเวลาข้างหน้าจนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
“ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้กำลังจะหมดไป แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง และไม่ทั่วถึง หลายภาคส่วนยังไม่กลับไปจุดเดิมก่อนวิกฤตโควิด และภาคครัวเรือนและธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบและมีปัญหาในการจ่ายคืนหนี้ คำถามสำคัญคือเราจะวางแผนกันอย่างไรในโลกใบใหม่นี้” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
นอกจากปัจจัยระยะสั้นแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายประการ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลงและมีความเสี่ยงที่จะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อม เช่น พัฒนาด้านเทคโนโลยี กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ทางออกสำคัญของเศรษฐกิจไทยในโลกยุคใหม่ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การยกระดับคุณภาพการศึกษาและทักษะแรงงาน การเปิดเสรีแรงงานและบริการ การลดการผูกขาด ตลอดจนการเพิ่มคุณภาพสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
ข่าวเด่น