สื่อนอก seafoodnews.com เผยแพร่ข่าว “Ecuadorian Shrimp to Re-Enter Thailand Market Following Safety Protocol Implementation” เนื้อหาระบุถึงกรณีที่กรมประมงไทย อนุมัติให้นำเข้ากุ้งจาก 36 ฟาร์มเลี้ยงกุ้งในเอกวาดอร์ ข่าวอ้างว่าผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย และ Biosecurity แล้ว ทางเอกวาดอร์ยังแจ้งอีกว่าประเทศไทยเตรียมที่จะอนุมัติโรงงานแปรรูปกุ้งเพิ่มเติมในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังมีกระแสข่าวว่าจะมีการอนุญาตนำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดียด้วย
รายงานข่าวดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำข่าวที่สื่อด้านสัตว์น้ำในระดับโลกอย่าง intrafish.com ได้เผยแพร่ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยยกเลิกการแบนกุ้งจากเอกวาดอร์ หลังจากแบนเป็นระยะเวลาหนึ่งปี หลังจากที่ทางการไทยตรวจพบโรคไวรัสตัวแดงดวงขาว (WSSV) และไวรัส (IHHNV) ที่ติดเชื้อในตัวอย่างกุ้งที่มาจากเอกวาดอร์ โดยประเทศไทยนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ เพื่อนำมาแปรรูปสำหรับส่งออกไปต่างประเทศ
แหล่งข่าวจากผู้เลี้ยงกุ้งภาคตะวันออก ให้ข้อมูลว่า ไทยเคยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทต่อปี แต่วันนี้กลับเสียแชมป์ให้ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งของโลก กลับมีภูมิภาคอเมริกา ที่เคยผลิตได้เป็นรองชาติในเอเชียมาตลอด กำลังวิ่งแซงหน้าโดยมีเอกวาดอร์เป็นผู้นำ การมาของกุ้งเอกวาดอร์ จึงสร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย และยังมีกระแสข่าวการนำเข้ากุ้งอินเดียเข้ามาอีก
หากเป็นเช่นนี้ความหวังที่จะพลิกฟื้นกุ้งไทย ให้สามารถทวงคืนแชมป์เบอร์ 1 กุ้งโลก ตามที่อธิบดีกรมประมงให้คำมั่น เมื่อครั้งเป็นประธานในงาน "วันกุ้งจันท์" ครั้งที่ 26 : 21 มี.ค. 2565 ว่าพร้อมจะร่วมสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และกลับมาผงาดในเวทีโลกได้อีกครั้ง ตามที่ได้วางเป้าหมายในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิตปริมาณ 400,000 ตัน ภายในปี 2566 คงไม่มีทางเป็นไปได้ อย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ จากข้อมูลคาดการณ์การผลิตกุ้งไทยในปี 2565 คาดว่าจะมีผลผลิตกุ้งอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน โดยผลผลิตกุ้งไทยลดลงตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกุ้ง ผนวกกับความไม่ชัดเจนของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งผู้นำการผลิตกุ้งของโลกที่เคยทำได้เป็นอันดับ 1 ในช่วง 10 ปีก่อน
ดังนั้น สิ่งที่กรมประมงต้องเร่งดำเนินการคือ การผลักดันทุกวิถีทางให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างผลผลิตกุ้งได้อย่างเพียงพอบนต้นทุนที่แข่งขันได้ “มิใช่การแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการนำเข้ากุ้งทั้งจากเอกวาดอร์ อินเดีย หรือประเทศอื่นๆ” เพราะมีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดจากต่างถิ่นที่อาจเข้ามา “ซ้ำเติมเกษตรกร”
เพราะต้องไม่ลืมว่า เหตุที่ต้องประกาศแบนกุ้งเอกวาดอร์มาก่อนหน้านี้ก็ด้วยตรวจพบเชื้อ White spot syndrome virus (WSSV), Infectious hypodermal and hematopoietic necrosis virus (IHHNV) และ Yellow head virus (YHV) ที่ติดมาในตัวอย่างกุ้ง นั่นเท่ากับเกษตรกรไทยก็ต้องเสี่ยงมากขึ้น หากผลิตภัณฑ์กุ้งเหล่านี้หลุดรอดมาในตลาด ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่พื้นที่ฟาร์มกุ้งเกษตรกรได้ การต่อสู้กับปัญหาโรคระบาดที่ทุกฝ่ายมุ่งดำเนินการมาอย่างยากลำบากตลอดหลายปีที่ผ่านมาย่อมล้มไม่เป็นท่า
ขณะเดียวกันมูลค่าเงินที่ต้องเสียไปกับการนำเข้า ควรเป็นเงินหมุนเวียนสนับสนุนเกษตรกรไทยจึงจะถูกต้อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยและเกษตรกรไทยมากกว่า โดยเฉพาะการเร่งจัดการปัญหาโรคระบาด ควบคู่ไปกับการพัฒนาและผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของไทยต่ำลง เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
“รัฐบาลต้องตระหนักว่า ในขณะที่เรามีปัญหา ประเทศเหล่านี้ไม่เคยช่วยเหลือ วันที่ไทยขอให้ทั้งสองประเทศรับกุ้งไทยบ้าง เขากลับยกเรื่องการดูแลเกษตรกรในประเทศของตนเองมาเป็นข้ออ้างปัดตกกุ้งไทย แต่วันนี้กรมประมงกลับสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรชาติอื่น ด้วยการเปิดประตูรับกุ้งนำเข้าจากต่างแดน เหยียบซ้ำคนเลี้ยงกุ้งไทย” ตัวแทนผู้เลี้ยงกุ้งภาคตะวันออก กล่าว
การแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทยวันนี้ เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน มองภาพรวมของประเทศ เริ่มต้นด้วยแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เร่งจัดการปัญหาโรคกุ้ง และมุ่งพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน โดยมีกรมประมงในฐานะพี่ใหญ่ที่ต้อง “จริงจังและจริงใจ” ในการแก้ปัญหา มิใช่เปิดรับกุ้งนอกมาฆ่า (คนเลี้ยง) กุ้งไทย./
ข่าวเด่น