อุตสาหกรรมกุ้ง มีประเด็นให้ติดตามอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่ากรมประมงไทย อนุมัติให้นำเข้ากุ้งจาก 36 ฟาร์มในเอกวาดอร์ และยังมีข่าวว่ากุ้งอินเดียก็ได้รับการอนุมัติให้สามารถนำเข้าได้เช่นกัน
เรื่องนี้น่าแปลกตรงที่ เหตุไฉนทางการไทยจึงไม่มีการเปิดเผยข่าวเรื่องการอนุมัติให้นำเข้าทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ของคนในวงการกุ้ง จะมีก็แต่เพียงประชาสัมพันธ์ประกาศกรมประมง แขวนในเว็บไซต์กรมฯเท่านั้น หากทางการเอกวาดอร์ไม่ออกข่าว จนสื่อดังอย่าง intrafish seafoodnews เผยแพร่ข่าวนี้ ป่านนี้คงยังไม่มีใครรู้ว่ากุ้งนอกบุกไทยแล้ว
กระทั่ง อธิบดีกรมประมงต้องออกมายอมรับเองว่า “กรมประมงอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นละโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเล จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดียได้แล้วเป็นเรื่องจริง”
กุ้งไทย เบอร์ 1 กุ้งโลก ด้วยคุณภาพมาตรฐาน
ประเทศไทยเคยรั้งตำแหน่งประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นอันดับ 1 ของโลก ในช่วง 10 ปีก่อน ก็ด้วยคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยทาง
อาหารที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก ไทยจึงกลายเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกกุ้งของโลก ทำรายได้เข้าประเทศจากส่งออกเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทแต่การมาของโรคกุ้งตายด่วน หรือกลุ่มอาการตายด่วน (Shrimp Early Mortality
Syndrome : EMS) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มอาการตับและตับอ่อนตายเฉียบพลัน (Acute Hepatopancreatic Necrosis Syndrome : AHPNS) ก็สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตกุ้งทะเลของไทย ทำให้ผลผลิตกุ้งหายไปกว่า 80% ปัจจุบันผลผลิตที่ได้ทั้งประเทศเหลือประมาณหนึ่งในสาม ของผลผลิตสูงสุดที่เกษตรกรไทยเคยผลิตได้เมื่อปี 2553 ที่ 6.4 แสนตัน
ฤาเป้าหมาย 4 แสนตัน ไกลเกินเอื้อม?
ในห้วง 10 ปีมานี้ที่ไทยเกิดวิกฤติกุ้ง คำถามสำคัญคือ กรมกองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำอะไรอยู่? การจัดการกับปัญหาทั้งเรื่องการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคคุณภาพสูง และการเร่งพัฒนาการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ เกิดขึ้นแล้วหรือยัง? เพราะต้องไม่ลืมหมุดหมายสำคัญที่ทั้งเจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง ได้รับปากและยืนยันว่าจะช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ ให้ไทยสามารถผลิตกุ้งให้ได้ปีละ 4 แสนตัน ภายในปี 2566 เพื่อทวงคืนโอกาสที่เกิดจากความเสียหายของอุตสาหกรรมกุ้งไทย จากการระบาดของโรคกุ้งให้กลับคืนมา โดยผลผลิตที่ลดลงคิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 5 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยหายไปปีละ 1 แสนล้านบาท และผลักดันกุ้งให้กลับมาเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ
แต่หลังจากประกาศกลยุทธ์ส่งเสริมการผลิตกุ้ง 4 แสนตันไปแล้ว กลับไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนแผนงานการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทั้งเรื่องวัคซีนที่มีคุณภาพ การวิจัยด้านการป้องกันโรค การยกระดับการเลี้ยงเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือแม้แต่สินเชื่อเพื่อการเกษตร ก็ไม่มีความคืบหน้า ซ้ำร้ายยังไปสนับสนุนเกษตรกรของชาติคู่แข่งสำคัญทั้ง เอกวาดอร์และอินเดีย ที่ไต่ระดับขึ้นมากลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่แทนกุ้งของไทยที่เคยส่งออกเป็นเบอร์ 1 ของโลก เบียดจนไทยมาอยู่อันดับ 6 ในวันนี้
กุ้งเอกวาดอร์ - อินเดีย รีแพ็คเมดอินไทยแลนด์ ภายใต้หลักการคลังสินค้าทัณฑ์บน
วันนี้สิ่งที่เกษตรกรได้รับคือ การมาของกุ้งนอก จากฝีมือของภาครัฐที่ควรดูแลเกษตรกรไทย ด้วยการประกาศนำเข้ากุ้งภายใต้หลักการ คลังสินค้าทัณฑ์บน เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออกอย่างเดียว 100% ซึ่งเป็นเรื่องที่สวนทางกับสถานะการเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งชั้นนำของไทย ทั้งที่ไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content : LC) เกือบ 100% เพื่อครองความผู้นำด้านคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กุ้งไทย ที่ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่ทั่วโลกมั่นใจ และสามารถสร้างอาหารมั่นคงทางอาหารได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิต คุณภาพกุ้ง รวมถึงความปลอดภัยอาหาร ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว หากกุ้งเอกวาดอร์ - อินเดีย รีแพ็คส่งนอกเกิดมีปัญหา ทำให้ “แบรนด์ไทยแลนด์” ที่สร้างมาต้องเสียหาย ใครจะรับผิดชอบกับชื่อเสียงที่จะสูญเสียไป ยังไม่นับกุ้งนอกที่มีโอกาสหลุดรอดมาในตลาดได้ ถึงเวลานั้นเกษตรกรย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก แค่ช่วงปีนี้ที่ราคากุ้งร่วงลงมาต่อเนื่อง กับปัญหาโรคกุ้งที่ยังไม่คลี่คลาย ก็ทำให้เกษตรกรหวั่นใจมากพอแล้ว
เกษตรกรถามรัฐ ใยปล่อยนำเข้ากุ้งเอกวาดอร์และอินเดีย ทำร้ายเกษตรกรไทย
ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา อักษร ขจรกาญจนกุล ถามแทนเกษตรกรที่ต่างประหลาดใจกับการตัดสินใจของกรมประมงว่า ทำไมถึงมีการอนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียแบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งที่ผ่านมา กรมฯ ปกป้องเกษตรกรมาตลอด เนื่องจากกุ้งนำเข้าจะทำให้ราคากุ้งไทยตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ ทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ จะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต รวมถึงผลประโยชน์ของประเทศ และถามกลับว่าภาครัฐรวมถึงเกษตรกรบางส่วน อาจจะหลงลืมไปว่าในวันที่ไทยขอให้ทั้ง 2 ประเทศเปิดรับกุ้งไทยบ้าง เขากลับยกเรื่องการดูแลเกษตรกรในประเทศเป็นข้ออ้าง กลับสร้างประโยชน์ให้คนชาติอื่น เป็นการเหยียบซ้ำคนเลี้ยงกุ้งไทย
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้อย่างยิ่งคือ ต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน กรมฯต้องแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จ มีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อจากแหล่งเงินทุน โดยภาครัฐและสถาบันการเงินสนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างฟาร์มและโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงสร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขัน
ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องหันกลับมา ปกป้องดูแลเกษตรกรไทยอย่ามัวแต่อุ้มเกษตรกรเอกวาดอร์และอินเดีย ภาครัฐต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้คนเลี้ยงและผลักดันการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายและงบประมาณ ต้องทุ่มไปที่ต้นเหตุของปัญหา ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเกษตรกรที่เป้าหมาย 4 แสนตัน ไม่ใช่แก้ปัญหาง่ายๆด้วยการนำเข้ากุ้งมาทุบซ้ำเกษตรกรไทย อย่ารอให้เกษตรกรต้องตบเท้าไปทวงถามรัฐบาลถึงหน้ากรมกอง หรือจะรอให้ท่านนายกรัฐมนตรีต้องระงับคำสั่งอนุมัตินำเข้าก่อน จึงจะเริ่มแก้ปัญหาได้?./
เขียนโดย : วัลลภา รุ่งไพรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล
ข่าวเด่น