หลังจบการแถลงข่าว “Shrimp Board กับการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย” ที่กรมประมง ร่วมกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์ไทย เชิญสื่อร่วมงานแบบโหลงเหลง คล้ายเป็นกิจกรรมแก้เกี้ยว หลังจากกรมประมงออกมายอมรับว่า มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดีย มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ยิ่งฟังก็ยิ่งทำให้คิดว่าเป็นวาทกรรมแสนแปลกประหลาด เพราะไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตร ที่เกษตรกรภายในประเทศผลิตขึ้นเองได้ มีแต่จะปกป้องเกษตรกร และส่งเสริมการตลาดจนถึงการส่งออก เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชาติ
โดยเฉพาะประเทศไทย ผู้นำด้านการผลิตสินค้าเกษตร ที่ไม่เพียงมีความสามารถในการผลิตอาหารป้อนคนทั้งประเทศเท่านั้น แต่ยังผลิตได้มากเพียงพอสำหรับการส่งออก โดยเฉพาะสินค้ากุ้งที่ไทยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ได้ถึง 80% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมด กระทั่งครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกมายาวนาน และเป็นพระเอกสร้างรายได้ให้ประเทศปีละนับแสนล้านบาท
แต่ด้วยปัญหาโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ที่แพร่ระบาดในกุ้ง ทำให้ผลผลิตกุ้งไทยลดลงตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน กอปรกับความไม่ชัดเจนของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของภาครัฐ ยิ่งทำให้ไทยต้องสูญเสียตำแหน่งแชมป์โลกที่เคยทำได้เมื่อ 10 ปีก่อนไปอย่างน่าเสียดาย
20 ปีที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่าไทยไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหากุ้ง มีเพียงนโยบายที่ตั้งไว้บนหิ้ง แต่ขาดคนนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัญหาโรคระบาดที่ยังคงกัดกินความมั่นคงของเกษตรกร ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทั้งกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณทำเรื่องนี้ แต่จนแล้วก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ในภาวะที่ราคากุ้งตกต่ำ รัฐกลับไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เพียงพอสำหรับคนเลี้ยง การช่วยเหลือที่ได้รับแทบไม่พอชดเชยภาวะขาดทุน จึงไม่แปลกที่วันนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งจะเหลือเพียง 1 ใน 3 ของผลผลิตสูงสุดกว่า 6.3 แสนตัน ที่ไทยเคยผลิตได้
กรมกองที่เกี่ยวข้องคงหลงลืมไปว่า หน้าที่หลักของตนเองคือการดูแลปกป้องส่งเสริมเกษตรกรทุกวิถีทาง โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าสินค้ามาทำลายเกษตรกรไทย ดูตัวอย่างอุตสาหกรรมหมูที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ยินยอมเด็ดขาดที่จะให้หมูนอกเข้ามาทุบอุตสาหกรรมได้ แต่กุ้งกลับปล่อยให้นำเข้ามาอย่างง่ายดาย วันนี้รัฐต้องกลับไปทำหน้าที่สำคัญ ในการเป็นตัวกลางสานประโยชน์ของทุกฝ่ายตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้ช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน กลุ่มผู้แปรรูปเพื่อส่งออกก็ต้องช่วยเกษตรกรในประเทศก่อน ไม่ใช่หาโอกาสในการนำเข้าเพื่อลดต้นทุนตัวเอง จนลืมเกษตรกรผู้เลี้ยง ต้องช่วยกันรักษาระดับราคาผลผลิตให้เกษตรกร สร้างความเข้มแข็ง และมีกำลังใจสร้างผลผลิตคุณภาพสานต่ออาชีพไม่ให้ล้มหายตายจาก เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่กลับเห็นประโยชน์เพียงของคนกลุ่มเดียว
แค่การยินยอมให้มีการนำเข้ากุ้งต่างแดนมาได้เช่นนี้ ก็ถือเป็นการทำลายเป้าหมายการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ตามที่ได้วางเป้าหมายให้มีผลผลิตปริมาณ 400,000 ตัน ภายในปี 2566 ให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำได้ดังเดิม
คำพูดสวยหรูที่ไร้ซึ่งการปฏิบัติจริง นอกจากจะไม่ได้ใจเกษตรกรแล้ว ยังไม่ต่างกับการถูกแทงข้างหลัง ด้วยการนำเข้ากุ้งจากสองประเทศ ที่เมื่อตอนไทยมีปัญหาผลผลิตล้นจนราคาตกต่ำ แล้วไปขอให้เขาช่วยรับซื้อกุ้งเราบ้าง กลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยเพื่อปกป้องเกษตรกรประเทศตัวเอง มาวันนี้รัฐบาลไทย กลับเปิดบ้านต้อนรับผลผลิตกุ้งจากทั้งเอกวาดอร์เบอร์ 1 กุ้งโลกในตอนนี้ และอินเดียที่เร่งเพิ่มกำลังผลิตกุ้งตามมาติดๆ
วันนี้รัฐบาล กระทรวง กรมที่เกี่ยวข้อง ต้องจริงจังกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้ง และจริงใจในการปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยง ให้เหมือนกับที่รัฐบาลของทุกประเทศเขาทำกัน ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องทบทวนเรื่องการนำเข้ากุ้ง มิใช่สนับสนุนเกษตรกรประเทศอื่นให้เจริญรุ่งเรือง แล้วมาเหยียบซ้ำเกษตรกรไทย./
บทความโดย นายสมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ
ข่าวเด่น