การค้า-อุตสาหกรรม
สมาคมกุ้งไทย เข้าพบอธิบดีกรมประมง ร้องขอมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาโรคกุ้ง


 
สมาคมกุ้งไทย ร้องกรมประมงเร่งออกแนวทางแก้ปัญหาโรคกุ้งอย่างเป็นรูปธรรมทั้งห่วงโซ่ ก่อนเกษตรกรถอดใจเลิกเลี้ยง มุ่งขับเคลื่อนเป้าหมายเพิ่มผลผลิตกุ้งให้ได้ 400,000 ตัน ภายในปี 2566 และรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า “พรีเมี่ยม” พร้อมทวงแชมป์โลกอันดับ 1  
 
 
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีความห่วงใยเกษตรกรไทยที่ต้องเผชิญปัญหาโรคกุ้งและแก้ปัญหากันมามากกว่า 10 ปี จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ยากและท้าทายที่สุดคือการเลี้ยงกุ้งให้รอด จึงอยากเรียกร้องให้กรมประมงหาแนวทางหรือมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเรื่องโรคในการเพาะเลี้ยง 
 
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ที่ยังมีเกษตรกรไม่ได้รับรู้ข่าวสารและมีความห่วงใย ซึ่งการนำเข้าอาจเกิดผลดีในระยะสั้น จึงขอให้กรมพิจารณาผลที่จะเกิดในระยะยาวโดยเฉพาะด้านภาพลักษณ์ของกุ้งในเวทีโลกด้านคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในฐานะสินค้า “พรีเมี่ยม” รวมถึงโรคอุบัติใหม่จากการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศยังไม่สามารถบรรลุผลการแก้ปํญหาได้ และอาจจะต้องเผชิญกับโรคใหม่   
 
“เป้าหมายการเพิ่มผลผลิตกุ้งไทย 400,000 ตัน ควรยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยื่งการแก้ปัญหาเรื่องโรคและการรักษาภาพลักษณ์คุณภาพสินค้าไทย เพราะมีความหมายต่อชีวิตและลมหายใจของคนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้งที่เชื่อมโยงกันหลายส่วน” นายเอกพจน์ กล่าว 
 
นายเอกพจน์ กล่าวย้ำว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดโรคระบาดในกุ้ง อุตสาหกรรมกุ้งไทย สูญเสียโอกาส-รายได้จากการส่งออกถึง 500,000 ล้านบาท ที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือถึงวันนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้  วิธีที่รัฐพยายามช่วยยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ   
 
นอกจากนี้ การเผยแพร่ข่าวของสื่อต่างประเทศ ว่ารัฐบาลของเอกวาดอร์ได้ประกาศว่ากุ้งเอกวาดอร์สามารถส่งออกไปยังตลาดประเทศไทยได้อีกครั้ง เพราะเอกวาดอร์สามารถดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย และความปลอดภัยทางชีวภาพได้ กรมประมงไทยยอมรับและมีประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ และอินเดีย เท่ากับเป็นการยกระดับมาตรกุ้งเอกกวาดอร์มาเทียบเท่ากุ้งไทย ขณะที่กุ้งไทยถูกดึงมาตรฐานให้ต่ำลง  
 
“สมาคมเห็นว่าเป็นเรื่องดังกล่าวที่มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง ต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาว อาจสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทยของผู้นำเข้าและผู้บริโภค ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งภายในประเทศในระยะกลางและระยะยาว โดยเฉพาะผลกระทบโดยตรงต่อราคา” นายเอกพจน์ กล่าว./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ส.ค. 2565 เวลา : 20:08:51
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 11:56 pm