ชื่นชมความกล้าหาญและจริงใจของนายกสมาคมกุ้งไทย ‘เอกพจน์ ยอดพินิจ’ ที่นำขบวนเกษตรกรผู้เลี้ยงเดินหน้าต่อสู่เพื่ออุตสาหกรรมกุ้งและผู้เลี้ยงกุ้งกว่า 40,000 ราย ทั้งเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และพบอธิบดีกรมประมง เพื่อเรียกร้องให้ ‘หยุดนำเข้ากุ้งต่างชาติ’ และช่วยแก้ปัญหาโรคกุ้งจริงจัง ‘ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ’ หลังเกษตรกรต้องทุกข์หนักจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนระบาดอย่างหนักถึง 10 ปี แต่ไม่มีความคืบ ปัญหายังเรื้อรัง และยังต้องวิตกกับกุ้งเอกวาดอร์ที่กรมประมงยินยอมให้นำเข้ามาแปรรูปเพื่อการส่งออกได้
เวลานี้สิ่งสำคัญและท้าทายที่สุดคือ ‘การเลี้ยงกุ้งให้รอด’ เกษตรกรมีผลผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและประคองภาคแรงงานให้ไปต่อได้ แต่การเลี้ยงต้องเสี่ยงกับภาวะโรคที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะยุติ เวลา 10 ปีนั้นมากพอที่จะเกิดผลงานจากการวิจัยและพัฒนาให้ได้วัคซีนป้องกันโรคกุ้ง หรือมียารักษาที่เหมาะสม แต่ทุกวันนี้เกษตรกรต้องพึ่งพาตนเอง ต้องลงทุนเรื่องการป้องกันโรคในระดับสูงสุด แม้ต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้นก็ต้องยอม เพื่อไม่ให้โรคต่างๆเข้ามาสร้างความเสียหาย ทั้งที่การขับเคลื่อนเรื่องนี้ ควรเป็นภาครัฐที่ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างทั่วถึง สนับสนุนการเลี้ยงด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม มีวัคซีนคุณภาพ การผลักดันโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงหาตลาดรองรับผลผลิต ในราคาที่เกษตรกรพอมีกำไรเพื่อต่อยอดอาชีพ
ปี 2564 ผู้เลี้ยงกุ้ง 4 หมื่นรายทั่วประเทศ มีผลผลิตกุ้งรวมกัน 284,000 ตัน มีการส่งออกกุ้งรวม 154,289 ตัน คิดเป็น 54.33% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมด (จากที่เคยมีการส่งออกมากถึง 80%) มีมูลค่าส่งออก 47,908 ล้านบาท ตัวเลขนี้สะท้อนว่า 1. ไทยถือเป็นผู้ส่งออกกุ้ง ที่มีปริมาณกุ้งสำหรับการผลิตเพื่อส่งออกอย่างเพียงพอ 2. ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้ากุ้งเพื่อซัพพอร์ทการแปรรูปสำหรับส่งออก เพราะไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตและแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออก ซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรภายในประเทศ (Local Content)
การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง ตั้งเป้าฟื้นฟูศักยภาพการเลี้ยงของเกษตรกร ให้สามารถเลี้ยงกุ้งจนมีผลผลิต 320,000 ตัน ในปี 2565 และ 400,000 ตัน ในปี 2566 เพื่อให้มีผลผลิตกุ้งสำหรับส่งออกได้อย่างมั่นคง แต่รัฐบาลกลับเปิดช่องว่างให้สามารถนำเข้ากุ้งได้เมื่อขาดแคลน (ทั้งที่ไม่เคยขาดแคลน) เป็นเหตุให้กุ้งจากเอกวาดอร์ ผู้นำการผลิตกุ้งเบอร์ 1 ของโลกในขณะนี้ สามารถเข้ามาใช้แปรรูปแล้วส่งออก (Re-export) ไปในตลาดโลกในนาม ‘กุ้งไทย’ แบรนด์สินค้าที่เกษตรกรทุ่มเทสร้างมาตรฐานการเลี้ยง ให้ได้กุ้งปลอดภัย ปลอดโรค และดูแลสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด นี่จึงเป็น ‘นโยบายกลับหัวกลับหาง’ ทั้งที่ไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งแท้ๆ ทำไมต้องนำเข้ากุ้ง เพราะกุ้งนอกนี้ถึงอย่างไรก็มีผลต่ออุตสาหกรรมอยู่แล้ว และเกษตรกรย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน
หากต้องการไปถึงเป้า 4 แสนตัน อยากให้เกษตรกรมีการผลิตมาก ก็ต้องให้เขามีกำไรพอมีแรงเลี้ยงกุ้งต่อไป จึงจะจูงใจให้เกษตรกรเข้ามาเลี้ยงกุ้งเพิ่มการผลิตต่อเนื่องจึงจะถูก ไม่ใช่การนำเข้ากุ้งมา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคา และลดแรงจูงใจการผลิตของเกษตรกร ถ้าจะให้พัฒนาและเพิ่มผลผลิต ประการแรกที่ต้องแก้ คือเรื่องโรคระบาดในกุ้ง ประการที่สอง คือส่งเสริมการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกร ประการที่สาม มีสินเชื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ หากทำเช่นนี้ได้ จึงจะใกล้เป้าหมายการทวงคืนแชมป์โลกกุ้งอันดับ 1 คืนมาได้ มิใช่รั้งอันดับ 6 อย่างเช่นทุกวันนี้
ยิ่งอธิบดีกรมประมงชื่นชมว่าประเทศไทยแปรรูปเก่ง แต่กลับไม่ชื่นชมว่าเลี้ยงกุ้งเก่ง และไม่เห็นว่าเกษตรกรทุ่มเทกับการเลี้ยงเพื่อมาตรฐานอาหารปลอดภัย ซ้ำยังบอกว่า หากช่วงไหนเลี้ยงกุ้งยากก็ให้หยุดเลี้ยงไปบ้างเพื่อพักบ่อ เกษตรกรจึงฝากคำถามมาทันที ‘ตกลงว่าไม่ต้องผลิตกุ้งตามเป้าหมายแล้วใช่ไหม?’ และการยินยอมให้กุ้งนอกเข้ามา ยิ่งตอกย้ำว่าเกษตรกรไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แล้วอย่างนี้ ธนาคารไหนจะยอมปล่อยสินเชื่อ? ในเมื่อการเลี้ยงกุ้งไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืน เรื่องนี้อดเปรียบเทียบกับกรมปศุสัตว์ไม่ได้ ที่ทุกวันนี้ยังคงทำงานเข้มแข็งบุกตรวจและปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู และหนักแน่นกับการ ‘ห้ามนำเข้าหมูจากต่างแดนอย่างเด็ดขาด’
ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง คือการที่คนเลี้ยงกุ้งต้องดูแลให้การผลิตของตนเองได้มาตรฐาน ส่วนภาคผู้ประกอบการแปรรูปก็ควรสนับสนุนเกษตรกร โดยใช้ผลผลิตในประเทศไม่ใช่นำเข้ากุ้งมาผลิต ซึ่งจะมีผลในระยะยาวอย่างแน่นอน นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้เลี้ยงกุ้งสะท้อนมา ให้ช่วยวิงวอนนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง ให้ทบทวนนโยบายโดย ‘ต้องเลิกนำเข้ากุ้งทันที’ และมองประโยชน์ของเกษตรเป็นที่ตั้ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้เลี้ยง ให้สามารถสร้างอาหารมั่นคงทางอาหารแก่คนไทย และผลักดันกุ้งเป็นสินค้าเรือธง เป็นพระเอกกวาดรายได้นับแสนล้านต่อปี มาพัฒนาประเทศได้อีกครั้ง
เรื่องโดย จิตรา ศุภาพิชญ์ นักวิชาการศึกษาด้านการเกษตร
ข่าวเด่น