เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : "วิกฤติเศรษฐกิจ" กำลังคลี่คลายแล้วหรือไม่? หลังเงินเฟ้อสหรัฐลดต่ำลง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด


 

 

เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันพุธที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ ได้มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 8.5% ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ และยังลดลงจากระดับสูงสุดของเดือนมิถุนายนก่อนหน้าที่พุ่งสูงสุดถึง 9.1% ทำให้แรงกดดันต่อ Fed ธนาคารกลางสหรัฐ ในการควบคุมนโยบายทางการเงินเพื่อต่อกรกับสถานการณ์เงินเฟ้อนั้นลดระดับความเข้มงวดลง และในภาคของการลงทุนก็มีความผ่อนคลายลง ทั้งตลาดหุ้นวอลล์สตรีตต่างดีดตัวอย่างแข็งแกร่งทันที รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนสูงอย่างเหรียญคริปโตก็ทำผลงานรับข่าวดีเช่นกัน ประกอบกับในฝั่งของบ้านเรา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ซึ่งเป็นไปตามคาด ตลาดลงทุนในไทยจึงไม่ได้มี Reaction ต่อข่าวในทางลบแต่อย่างใด ข่าวทั้ง 2 เรื่องนี้จึงอาจจะเป็นสัญญาณดีที่กำลังใบ้เราทุกคนว่า ปัญหาเศรษฐกิจใน ณ ขณะนี้ อาจกำลังใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

 

ค่า CPI ของสหรัฐ จาก www.investing.com
 
 
ตามข้อมูลในรูปด้านบนที่แสดงถึงค่า CPI ดัชนีวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐ จะเห็นได้ว่าก่อนตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนกรกฎาคมจะประกาศ ทิศทางของเงินเฟ้อนั้นไต่ระดับความตึงเครียดมาโดยตลอด เริ่มต้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่ค่า CPI พุ่งขึ้นสูง 7.9% ถือเป็นครั้งแรกที่เงินเฟ้ออยู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เป็นการพุ่งขึ้นสูงด้วยอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมของปี 2525 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามที่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน โดยที่น้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเรื่องของเงินเฟ้อ จน Fed ต้องออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อควบคุมสภาวะเศรษฐกิจ อย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่เริ่มจากการขึ้น 0.25% ปรับเพิ่มระดับเป็น 0.50% ในเดือนพฤษภาคม และปรับสูงขึ้นอีกเป็น 0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 28 ปี

เหตุที่ Fed จำเป็นต้องไล่ระดับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเพราะการเพิ่มแรง เพื่อที่จะพยายามกดเงินเฟ้อให้อยู่หมัด เมื่อค่าเงินเฟ้อมีสถิติความรุนแรงที่ขยับขึ้นไปทำ New High เรื่อยๆ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ Fed ก็จะมีทิศทางที่สูงขึ้นสัมพันธ์ตามไปด้วย ซึ่งความน่ากลัวอยู่ตรงที่ ก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้ว่าเพดานของค่าเงินเฟ้ออยู่ที่เท่าไหร่ (จากที่ตัวเลขขยับขึ้นไปได้เรื่อยๆ) การจะประกาศตัวเลขอัตราดอกเบี้ยแต่ละทีของ Fed จึงทำให้ภาคการลงทุน ทั้งตลาดหุ้น ทองคำ หรือเหรียญคริปโต อยู่ในสภาวะปั่นป่วนรอรับข่าว แต่ล่าสุด วันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา Fed ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงอยู่ที่ระดับ 0.75% รอบ 2 นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในระดับเท่าเดิม ไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น (จากก่อนหน้านี้การขึ้น 3 ครั้งที่ผ่านมา 0.25% - 0.50% - 0.75%) ซึ่งผิดจากการคาดการณ์ของเหล่านักวิเคราะห์และนักลงทุนที่เก็งข้อสอบกันว่าอัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1%

 
 
กราฟ BTC/USDT Timeframe 30 นาที จากกระดานเทรด www.binance.com

 
ทำให้สถานการณ์ลดระดับความตึงเครียดลง ตลาดทุนกลับมาสดใสเป็นครั้งแรก รวมถึงในตอนนี้ที่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดก็ลดระดับความร้อนแรงเป็นครั้งแรกเหลือ 8.5% และยังต่ำกว่าที่คาดที่ 8.7% อีกด้วย ทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีตพากันดีดตัวสูงขึ้นทันที 2% ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 1.6% หรือ 535 จุด ส่วน Nasdaq เพิ่มขึ้น 2.9% ในตลาดคริปโตก็มีทิศทางเดียวกัน โดยเหรียญแม่อย่าง Bitcoin ได้มีการพุ่งขึ้นสูงเป็นแท่งเขียวยาว 8 เมตรทันทีที่มีการประกาศตัวเลขออกมา โดยช่วงกราฟเวลา 19.30 น. มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 24,056 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาเปิดแท่งที่ 23,061 ดอลลาร์สหรัฐ

ในฝั่งของประเทศไทย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน เพื่อพยุงค่าเงินบาทและไม่ให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ จากผลกระทบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ภาคการลงทุนในประเทศไทยไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะความกลัวแต่อย่างใด เป็น Reaction เฉกเช่นเดียวกับกรณีการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ 0.75% รอบที่ 2 นอกจากนี้ค่าเงินบาทก็มีการทรงตัวขึ้นมาหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย

ทั้งค่าเงินเฟ้อของสหรัฐที่ชนเพดานและลดระดับความร้อนแรงลงมาแล้ว และ Fed มีทีท่าที่จะออกนโยบายการเงินที่ทำให้ตลาดทุนผ่อนคลายลง ประกอบกับในประเทศไทยก็ไม่ได้มีการออกนโยบายการเงินที่บีบคั้นภาคเศรษฐกิจมากนัก แม้ไทยจะยังมีการขึ้นดอกเบี้ยรอบ 2 ช่วงเดือนพฤศจิกายนอยู่อีก 1 ครั้ง แต่ทางกนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อยก็เป็นไปเพื่อการควบคุมเรื่องของเงินเฟ้อให้อยู่หมัดเท่านั้น เพราะในแง่ของค่าเงินบาทตอนนี้ก็ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดมาเรื่อยๆ แล้ว และเศรษฐกิจไทย กนง.ก็มองว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงสิ้นปี 2565 นี้ ฉะนั้นปัจจัยหนุนนำทั้ง 2 เรื่องจากทางสหรัฐ และในบ้านเรา อาจเป็นการส่งสัญญาณดีที่ค่อนข้างมีน้ำหนักอย่างมากว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ อาจจะพบกับทางออกได้ในเร็วๆ นี้แล้ว

บันทึกโดย : วันที่ : 13 ส.ค. 2565 เวลา : 21:35:44
15-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 15, 2025, 8:06 pm