หุ้นทอง
"ทรีนีตี้" จัดสำรับลงทุนรับมือ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" แนะ 4 ธีมเด่นในพอร์ต มองหุ้นไทยยังแข็งแกร่ง เป้าดัชนีสิ้นปี 1,690 จุด


ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากหลายวิกฤต เช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 เงินเฟ้อที่พุ่งแรงทั่วโลก เศรษฐกิจโลกถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ และขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังพัฒนาจากภาวะ “ความกลัวเงินเฟ้อ (Inflation Fear)” มาสู่ภาวะ “ความกลัวเศรษฐกิจถดถอย (Recession Fear)” จากการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของประเทศสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศยุโรป


นอกจากนี้ การที่ Fed เริ่มมีนโยบายลดความรุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย (Less Hawkish) นำไปสู่การทำกำไรของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และภายหลังจากการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.5-0.75% ในเดือนกันยายนนี้ อาจจะทำให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความกลัวเศรษฐกิจถดถอยยังมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไทยในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็น Renewed ของฟันด์โฟลว์หรือฟันด์โฟลว์รอบใหม่ โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในตลาดหุ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของมุมมองด้านเงินเฟ้อ มองว่าเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย อาจจะถึงจุดสูงสุด ในไตรมาส 3 ปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว และคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย ของประเทศไทย จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 0.25% ต่อครั้ง คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ใน 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1.5% ในกลางปี 2566 แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ในเดือนกรกฎาคม 2565 และการที่ค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสปรับขึ้นได้ 5-8% ทำให้ Core Inflation มีโอกาสสูงกว่าที่เป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 1-3%

ในส่วนของมุมมองด้านค่าเงินบาท มองว่านับตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในสกุลเงินอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 4% และคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากการส่งออกเงินปันผลของนักลงทุนต่างประเทศช่วงเดือนกันยายน 2565 ประกอบกับ Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.5%

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมองการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบสูงสุดในไตรมาส 3 ของปี 2565 และจะปรับขึ้นเป็นบวกระดับ 4% ของ GDP ในปี 2566 (เปรียบเทียบ+10% ของ GDP ในช่วงก่อน เกิด COVID) คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% ของ GDP ในไตรมาส 3 และเป็น 5% ของ GDP ในไตรมาส 4 และอาจเพิ่มเป็น 7% ของ GDP ในไตรมาส 1 ปี 2566 ขณะที่การเติบโตของฐานเงินอย่างกว้างหรือ M2 เพิ่มขึ้น 6.20% ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี บ่งบอกถึงสภาพคล่องเริ่มดีขึ้น

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย มองเป้าหมายของดัชนีอยู่ที่ 1,690 จุด อิงอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาด ที่ 106.5 บาท และ Forward PE (X) ที่ 15.9X และมีโอกาสที่จะปรับเป้าหมายดัชนีขึ้น เพราะ EPS มีโมเมนตัมเป็นบวกจากการปรับเพิ่มของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อีกทั้ง นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ผลตอบแทนติดลบตั้งแต่ -1.8% ถึง -50% แต่ตลาดหุ้นไทยยัง Outperform ตลาดหุ้นโลก
 

 
ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า แนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต (Asset Allocation) ในช่วงที่เหลือของปี 2565 โดยสินทรัพย์ที่แนะนำลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นไทย 25% ตลาดหุ้นเวียดนาม 10-15% ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว 10% ตราสารหนี้โลก 25% ทองคำ 5% Weighting ในกลุ่มน้ำมัน และ Commodity 5% และถือเงินสด 15-20% เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงยังไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังไม่คาดการณ์

ทรีนีตี้ยังแนะนำให้ Overweight หรือให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ในกลุ่มหุ้นที่เป็น “Thematic Play” ที่ได้สร้างแบบจำลองทาง Macro Economic 4 ธีมหลัก ได้แก่

ธีมที่ 1 : บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง (reopening) และการท่องเที่ยว มองว่าประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางออกนอกประเทศได้ใน 3-12 เดือนข้างหน้า

ธีมที่ 2 : บริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า

ธีมที่ 3 : หุ้นปันผลสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation hedge )

ธีมที่ 4 : บริษัทได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มธนาคาร แต่การส่งผ่านการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบเศรษฐกิจนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลง

 
ปัจจัยบวก / ลบ ต่อการลงทุนช่วงที่เหลือของปี

ปัจจัยบวก 

1) เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย หลังแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงทำให้เงิน USD ชะลอการแข็งค่า และทำให้ Risk sentiment ในตลาดกลับมาปรับสูงขึ้นอีกครั้ง

2) เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังเปิดประเทศ

3) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทหลังหลังดุลการค้า และดุลบริการดีขึ้นจากราคาพลังงานที่ลดลงและนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น

4) การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้าหนุนการบริโภคคึกคักขึ้นจากนโยบายการหาเสียงของพรรคต่างๆ เช่น นโยบาย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

5) ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงยืนได้อย่างแข็งแกร่ง

6) Valuation ของตลาดหุ้นไทยที่เริ่มลดลงสู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

7) การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยแบบค่อยเป็นค่อยไป กระทบต่อต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำ ลดความรุนแรงของปัญหาหนี้ครัวเรือน

8) สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังสูง จากการบังคับใช้นโยบาย QT ของ Fed อย่างไม่เข้มงวดและไม่ถึงเป้า

9) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัว Rally ในช่วงหลังการเลือกตั้งได้ หากผลการเลือกตั้ง Midterm Election ของสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทั้งในส่วนของสภาบนและสภาล่าง โดยสภาล่าง เปลี่ยน Majority จากฝั่ง Democrat ไปเป็น Republicanตามผลโพล หลายสำนัก
 
ปัจจัยลบ
 
1) Yield curve ของประเทศส่วนใหญ่ แบนราบมากขึ้น (Flattening) และมีความชัน 2s10s spread ทำจุดต่ำสุดต่อเนื่องและการเข้าสู่ภาวะ Inverted ในสหรัฐฯ เป็นสัญญาณชี้นำว่าเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
 
2) Real Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและเป็นบวก จะทำให้ความน่าสนใจของ Risky Asset รวมถึงทองคำอยู่ในระดับจำกัด
 
3) ตัวแปรชี้นำของเศรษฐกิจโลกหลายตัวส่งสัญญาณชะลอตัวเช่นภาคการผลิต ,บริษัทหลายแห่งเริ่มปรับลดการจ้างงาน อาจเป็นสัญญาณชี้นำเบื้องต้นเศรษฐกิจโลกเตรียมเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอย
 
4) แรงกดดันเงินเฟ้อของไทย อาจแพร่กระจายมากขึ้น และลงลึกในหมวดสินค้าสำคัญ กินเวลานาน และกระทบกับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงถัดไปได้
 
5) นักลงทุน Retail ในตลาดหุ้นไทยมีความกล้าลดลง ทำให้สภาพคล่องใน หุ้นขนาดกลาง-เล็กลดลงต่ำกว่าปกติ
 
6) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้ง ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยังยืดเยื้อ และระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ส.ค. 2565 เวลา : 17:26:08
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 12:33 am