บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดเวทีสัมมนาเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวโน้มในอนาคตการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำในงานสัมมนา Shell Forum 2022 ในหัวข้อ “Decarbonization: The Journey Towards Low-Carbon Economy” เพื่อระดมแนวคิด และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาในช่วงแรกของงานซึ่งใช้ชื่อว่า “The Thought Leaders” ผ่านหัวข้อ Thailand's Climate Commitment and Decarbonization Journey ว่า “ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% ของโลก
โดยมีสาเหตุหลักมาจากการทำปศุสัตว์ รวมถึงเกษตรกรรม กระทรวงฯ จึงได้มีการทดลองปรับปรุงเทคนิคการทำนาขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งซึ่งพบว่าช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนได้สูงถึง 70% และยังเพิ่มผลผลิตได้ถึง 850 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินงานตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy (BCG) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 โดยเน้นขับเคลื่อนการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) ด้านการลงทุน ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และด้านกฎหมาย สำหรับภาคเกษตรกรรม ได้มีการใช้แนวคิด Agri-Tech with Roots (ATR) ซึ่งประสานเทคโนโลยีร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านของไทย ในไทยยังมีป่าชุมชนกว่า 11,000 แห่งที่ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญสำหรับเศรษฐกิจ รัฐบาลยังมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวในไทยให้ได้ 55% ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้กระทรวงฯ ได้วางแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่จะสนับสนุนการร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”
ภายในงาน ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Thailand's Decarbonization Policy in the Energy Sector ว่า “71% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันมาจากภาคพลังงาน รองลงมาเป็นภาคการเกษตร ตามด้วยอุตสาหกรรมการผลิต และการบริหารจัดการของเสีย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) อย่างยั่งยืนประกอบไปด้วย 4P ได้แก่ Profit (กำไร) People (ผู้คน) Planet (โลก) และ Partnership (พันธมิตร) กระทรวงพลังงานได้วางแนวนโยบายแผนพลังงานชาติสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งเน้นไปที่ (1) การใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% โดยมีระบบกักเก็บพลังงานที่ดี (2) นโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 (3) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และ (4) นโยบาย 4D1E ได้แก่ Digitalization การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน, Decarbonization การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์, Decentralization การผลิตพลังงานแบบกระจายตัว, De-Regulation การเปิดเสรีภาคพลังงาน และ Electrification การใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว โดยภาครัฐได้เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนร่วมกับโมเดล BCG โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อประเทศไทยปรับแผนพลังงานพร้อมขับเคลื่อนสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เพิ่มการลงทุนและการจ้างงาน บรรเทาปัญหามลพิษ PM2.5 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หลังวิกฤตโควิด-19 อย่างยั่งยืน”
นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เชลล์ได้ประกาศกลยุทธ์ Powering Progress ในปี พ.ศ. 2563 เป็นกลยุทธ์ในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ โดยมีเป้าหมายสำคัญดังนี้ (1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net-zero emissions) ให้ได้ 50% ภายในปี พ.ศ. 2593 และให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 (2) การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดีขึ้น (Powering lives) ผ่านการจัดหาพลังงานที่มีคุณภาพดี เชื่อถือได้ และยั่งยืน (3) การเคารพธรรมชาติ (Respecting nature) การปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดและจัดการของเสีย รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ (4) การสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น (Generating shareholder value) การที่เชลล์จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้นั้น จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน
นอกจากความมุ่งมั่นที่จะจัดหาพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐแล้ว เชลล์ยังตระหนักดีถึงความสำคัญของสมดุลระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ทั้งด้านคุณภาพ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมจากวัสดุทางชีวภาพ การจัดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และผลิตภัณฑ์ยางมะตอย Bitumen Fresh Air ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ การติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ ตลอดจนการริเริ่มโครงการ Nature-based Solutions
จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนที่ผ่านมารวมทั้งทีมงานของเชลล์ระดับภูมิภาค เรามองถึงการดำเนินงานในเรื่องต่อไปนี้ที่มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ของประเทศไทยอันได้แก่ (1) นโยบายหลักของการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกกับการลด (Avoid) และการหลีกเลี่ยง (Reduce) การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผ่านการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ พลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า ลม แสงแดดเป็นจุดเริ่มต้น และสุดท้ายตามด้วยการชดเชยคาร์บอน (Compensate) (2) การที่จะบริหารจัดการลดคาร์บอนอย่างยั่งยืนต้องมีทั้ง Speed และ Scale ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกัน คือ (2.1) มาตราฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตที่เทียบเท่าสากล (2.2) ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ (2.3) ระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือ ETS (Emission Trading System) นำเงินภาษีที่ได้ไปใช้ในการวิจัยเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการลงทุนในโครงการลดคาร์บอน รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ (4) การสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนที่ได้กล่าวมาแล้ว (5) สำหรับภาคการเกษตรนอกเหนือจากการปลูกป่า ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในการปลูกข้าว และการทำ carbon farming สำหรับเกษตรกรรายย่อย”
อีกส่วนสำคัญของงาน Shell Forum 2022 คือช่วง “The Change Makers” ซึ่งเป็นการเสวนาในหัวข้อ “All Roads Lead to Decarbonization” ที่ได้ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาแบ่งปันเรื่องราวในการลดคาร์บอน โดย ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทของชมรมฯ ในการศึกษาการเกิดไฟป่าในตำบลแม่ปิง อมก๋อย แม่ตื่น จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากราว 10 ล้านไร่ เป็นป่า 6.5 ล้านไร่ ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในการทำการเกษตร และการจัดการขยะทางชีวภาพ โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกี่ยวกับกลไกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทาง ขณะที่นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชนที่พยายามนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดคาร์บอนในการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มอัตราส่วนการผลิตพลังงานสะอาดในระบบโครงข่ายไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้รวม 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2567 พร้อมย้ำว่าประเทศจะขับเคลื่อนไปสู่การใช้พลังงานสีเขียวได้ด้วยการผสานกันระหว่างการลงทุนด้านเทคโนโลยี การผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับจากภาครัฐ การส่งเสริมอีโคซิสเต็มแบบดิจิทัล และการสนับสนุนด้านเงินลงทุน เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ได้พูดถึงกระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนมองว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนท้องถนนได้ไม่น้อย แต่เมื่อมองครบถ้วนทุกกระบวนการแล้ว กระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังมีการผลิตคาร์บอนมากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่อไป อย่างไรก็ตามมองว่ายังมีโอกาสสำหรับบริษัทขนาดเล็กของไทยในการเติบโตในตลาดนี้หากได้รับการสนับสนุน โดยต้องอาศัยภาครัฐในการออกกฎระเบียบและให้การอุดหนุน ส่วนภาควิชาการก็สนับสนุนผ่านการวิจัยและพัฒนา ภาคเอกชนสามารถช่วยได้ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ในภาคประชาชน สุดท้ายกับนางสาวอมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้แทนเยาวชนแห่งประเทศไทยที่เข้าร่วมงาน Youth4Climate ที่ประเทศอิตาลี ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งได้แบ่งปันแนวคิดในการให้การศึกษาและความเข้าใจแก่เยาวชนด้อยโอกาสในประเด็นความยั่งยืน โดยหลังจากนั้นได้ก่อตั้งโครงการจิตอาสาพี่สอนน้อง (Youth Mentorship Project) เพื่อลดช่องว่างทางสังคม พร้อมปลุกพลังและสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมให้ทุกคนร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ในช่วงสุดท้ายของงานซึ่งใช้ชื่อว่า “The Transformers” ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทและองค์กรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จมาร่วมบรรยาย เริ่มด้วย มร. คาซีม ข่าน ผู้จัดการทั่วไป เชลล์เอเชีย-แปซิฟิค Nature-based Solutions ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ของเชลล์ด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติและระบบนิเวศ เพื่อให้ธรรมชาติช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศโดยรอบ โดยประเทศไทยมีพื้นที่ธรรมชาติที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้และอาจพัฒนาได้จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน (Blue Carbon) การควบคุมการเผาป่า และเกษตรกรรมที่มีการจัดการมากขึ้นหรือใช้ระบบวนเกษตร นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้พูดถึงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ได้เสนอไว้กับประชาคมโลกว่าจะลดลง 40% ในปีพ.ศ. 2573 และจะเข้าสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 โดยที่มีเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ทั้งนี้ได้มีการอธิบายภาพจำลองของสถานการณ์ฯ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในแต่ละช่วง สำหรับประเทศไทยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) โดยปัจจุบันมีโครงการที่จดทะเบียนเข้าร่วมแล้วกว่า 100 โครงการ องค์กรฯ มีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และ ขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในระดับอาเซียน ขณะเดียวกันเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้สำเร็จ จึงได้จัดตั้งเครือข่าย Carbon Neutral Network ขึ้นซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 256 องค์กรเข้าร่วมเป็นสมาชิก ผ่านความร่วมมือของ Climate Action Leading Organizations และ Climate Action Innovator โดยการจับมือแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน Thailand Carbon Credit Exchange เนื่องจากต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละมาตรการไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดราคาเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ทางองค์กรฯ ยังมีแผนยกระดับโครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER เพื่อร่วมขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนในไทยให้บรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน และมร.แอนดรูว์ โฮวาร์ด ผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบายและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากเวอร์ร่า (Verra) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศอเมริกา ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตและตลาดคาร์บอนในเวทีโลก พร้อมให้คำแนะนำว่าการจัดตั้งตลาดคาร์บอนควรทำร่วมกับหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน โดยภาครัฐควรเริ่มจากการตั้งเป้าในการลดการปล่อยคาร์บอนและวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในประเทศก่อน หลังจากนั้นจึงให้ความช่วยเหลือกับโครงการอื่นๆ
เชลล์ประเทศไทย ได้เริ่มจัดงาน Shell Forum ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กรจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคม โดยมุ่งหวังให้เป็นเวทีพูดคุยและสร้างแนวร่วมปฏิบัติ เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน พร้อมเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ข่าวเด่น