ตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบันนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่กลายเป็น New Normal รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีต หรือวิถีชีวิตใหม่ที่กลายมาเป็นเรื่องปกติ หลังจากเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างผลกระทบจนคนในสังคมต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่โลกต่างไม่เคยรับมือมาก่อน แถมยังมีลูกเล่นในการกลายพันธุ์ให้สามารถแพร่เชื้อไปได้ไม่จบไม่สิ้น วิกฤติที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพนี้ ทำให้ผู้คนกลับมาดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเป็นอย่างมาก เริ่มต้นจากการป้องกันตัวเองจากไวรัส เช่น การสวมหน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตลอดเวลา รวมถึงสินค้าที่มีคุณสมบัติในการป้องกันและยับยั้งเชื้อโรคต่างก็ขายดีกันเทน้ำเทท่า แม้การแพร่ระบาดของโควิดจะเริ่มคงตัวกว่าแต่ก่อน โลกได้ทำความรู้จักและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปเลย นั่นก็คือการหันมาดูแลรักษาสุขภาพ กลายเป็นสิ่งปกติใหม่ ที่คนส่วนมากนั้นให้น้ำหนัก สังเกตได้จากปริมาณความต้องการของสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเราก็เริ่มเห็นการเปิดตัวสินค้าที่มีตอบโจทย์การดูแลสุขภาพในแง่ต่างๆป้อนเข้าสู่ตลาดที่เริ่มมากขึ้นเช่นกัน
ข้อมูลจากบริษัท Mintel บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก วิเคราะห์สินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จากสินค้าอาหารทั่วโลกจำนวน 1.94 ร้านรายการนั้น มีสัดส่วนที่เป็นอาหารฟังก์ชั่น (อาหารเพื่อสุขภาพ) อยู่ที่ 1.05 แสนรายการ หรือ 5.4% จากทั้งหมด โดยคุณสมบัติของอาหารฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในตลาด ให้ความสำคัญเรื่องของพลังงาน 23.6% ดูแลการย่อยอาหาร 17.7% หัวใจหลอดเลือด 17.6% กระดูก 15.3% และการต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่เราเริ่มได้ยินคำว่าเวชศาสตร์ชะลอวัย หรือ Anti-Aging อยู่ที่ 14.7% ซึ่งประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอาหารประเภทฟังก์ชั่นในปัจจุบันประกอบด้วย ประเทศที่ครองสัดส่วนอันดับ 1 คือ อินเดีย 9.5% สหรัฐอเมริกา 9.2% จีน 5.7% สหราชอาณาจักร 5.3% และเม็กซิโก 3.9%
ในส่วนของอาหารที่ผลิตในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555-2564 มีการผลิตอาหารทั้งหมด 25,900 รายการ มีสัดส่วนอาหารฟังก์ชั่นอยู่ที่ 1,684 รายการ หรือคิดเป็น 6.5% ซึ่งนั่นหมายความว่า ประเทศไทยเองยังมีช่องว่างในการผลิตสินค้าฟังก์ชั่น หรือสินค้าเพื่อสุขภาพอีกเยอะมาก เนื่องด้วยวัตถุดิบและทรัพยากรทางการเกษตรจำนวนมากที่มีอยู่ในไทย อย่างที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) เปิดเผยถึงการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching: OBM) ระหว่างไทยและประเทศชิลีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ชิลีผู้นำเข้า ได้ให้ความสนใจในตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงส่วนประกอบอาหารที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย โดยชิลีมองเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในไทย
โดยการจะตีตลาดสุขภาพไปในระดับประเทศและระดับโลกของไทยนั้น ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังมีช่องว่างอีกมาก แต่สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป อาจเป็นเรื่องการวาง Positioning ตัวเองว่าประเทศไทยนั้นมีทรัพยากรที่ตรงจุดกับการดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างไร และให้ความสำคัญในการเปิดเผยถึงกระบวนการและที่มาของวัตถุดิบต่างๆ เพราะหลายปีที่ผ่านมานี้ คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาโลก หรือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต จากที่เห็นการแบนผลิตภัณฑ์ที่มีการทารุณกรรมสัตว์ ไม่สนับสนุนสินค้าที่เบียดเบียนธรรมชาติ หรือมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อผนวกกับเทรนด์การดูแลสุขภาพที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยิ่งมีการเรียกร้องข้อมูลและเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ก่อนเลือกนำมาบริโภค ว่าจะดีต่อสุขภาพตัวเองจริงๆและดีต่อโลกด้วยหรือไม่
เช่นอาหารแบบ Plant-based อาหารที่มีการทำจากพืช 100% ก็ถือได้ว่าเป็นกระแสอาหารสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ คอนเซปต์ของอาหารแบบ Plant-based คือ การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วยการลดการทานเนื้อสัตว์ เพราะการทำปศุสัตว์นับเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และทำให้โลกร้อนมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ด้านเกษตรกรรมนั้นดีต่อโลกมากกว่า ฉะนั้นการกิน Plant-based ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช จึงถือเป็นการกินที่ช่วยลดมลพิษโลก และเป็นการกินเพื่อรักษาสุขภาพ ซึ่งข้อมูลจากทาง Euromonitor ก็มีการประมาณการว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดของอาหาร Plant-based ทั่วโลก จะเติบโตถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 7.5 แสนล้านบาท (จากปี 2562 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์)
เห็นได้ว่าสินค้าเพื่อสุขภาพที่ดีต่อโลก มีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมาก และมีโอกาสรุกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย จากปัจจัยเกื้อหนุนที่ได้กล่าวไปข้างต้น ฉะนั้นการเริ่มทำธุรกิจสายกรีนจึงเป็นโอกาสทองสำหรับประเทศไทย ที่จะสามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโลกได้ หากเร่งรุกคืบตั้งแต่วันนี้
ที่มา
-https://www.euromonitor.com
-https://www.ditp.go.th/
-https://www.mintel.com
ข่าวเด่น