กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนความสามารถในการดำเนินงาน
กำลังผลิตปัจจุบันรวม 3,272 เมกะวัตต์ มุ่งขยายพอร์ตธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2565 ด้วยกำไรสุทธิ 3,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 5,083 ล้านบาท สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาเสถียรภาพการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง รวมทั้งสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกระแสเงินสดมั่นคง บริษัทฯ ยังคงมุ่งขยายพอร์ตธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยประสบความสำเร็จในการลงทุนเพิ่มทั้งในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2568
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในครึ่งแรกของปี 2565 บ้านปู เพาเวอร์ ยังคงให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงการเข้าไปดำเนินงานในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีในสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้บริษัทฯ เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในตลาดที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันยังสามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอจากการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์ในสัดส่วนที่เหมาะสม บริษัทฯ ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเป็นอย่างดีสะท้อนจากผลตอบรับที่ล้นหลามจากการจองหุ้นกู้จำนวน 5,500 ล้านบาทในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา”
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2565 ของบ้านปู เพาเวอร์ ส่วนหลักเกิดจากการเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย ที่มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึงร้อยละ 91 และร้อยละ 94 ตามลำดับ ทำให้สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง นอกจากนี้ยังรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีน มีปริมาณการขายและราคาขายไอน้ำเพิ่มขึ้น จากความต้องการของลูกค้าอุตสาหกรรมบางส่วนที่ฟื้นตัวกลับมา
โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple I สหรัฐอเมริกา
สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในไตรมาส 3 ของปี 2565 คาดว่าจะรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ประเทศเวียดนาม เนื่องจากเสร็จสิ้นกระบวนการซื้อขาย รวมถึงมีโอกาสในการเพิ่มเมกะวัตต์จากการดำเนินธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปตอบสนองนโยบายสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลเจิ้งติ้ง ในประเทศจีนอีกด้วย
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) ประเทศเวียดนาม
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ (Nhon Hai) ประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ บ้านปู เพาเวอร์ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ โดยล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ และดูราเพาเวอร์ สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในไทย ตั้งเป้ากำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2569
“บ้านปู เพาเวอร์ ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนที่ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, and Governance: ESG) โดยสร้างการเติบโตทางธุรกิจและการลงทุนภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter เพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์ของบริษัทฯ ให้ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า และนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้ตอบสนองต่อรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เรามีความพร้อมในการเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณค่าและผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนต่อไปในระยะยาว”
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจของบ้านปู เพาเวอร์ได้ที่ www.banpupower.com
ข้อมูลโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565
โรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้า 42 จำนวน (แห่ง/โครงการ)
โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 40 จำนวน (แห่ง/โครงการ)
โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 จำนวน (แห่ง/โครงการ)
โรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้า 3,272 กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน (เมกะวัตต์)
โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 3,153 กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน (เมกะวัตต์)
โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 119 กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน (เมกะวัตต์)
ข่าวเด่น