การติดตามข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจอย่างเป็นประจำ ช่วยให้เราได้เปรียบอย่างมากในการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ที่เน้นวิเคราะห์หุ้นแบบ Top Down Analysis โดยเริ่มจากภาพใหญ่สุด นั่นคือ ‘ภาวะเศรษฐกิจ' จากนั้นจึง 'วิเคราะห์อุตสาหกรรม' ที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ แล้วปิดท้ายด้วยการ ‘เจาะลึกบริษัท’ ที่น่าสนใจ
แต่เชื่อว่าคงมีหลายคนที่มักจะเจอปัญหาเวลาฟังหรืออ่านข่าวเศรษฐกิจ เพราะเต็มไปด้วยคำศัพท์ที่ไกลตัวและเข้าใจยากเต็มไปหมด บทความนี้จึงได้รวบรวม 10 คำศัพท์ยอดฮิตในข่าวเศรษฐกิจ พร้อมถอดรหัสแปลความหมายออกมาเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้น มาฝาก
รวมคำศัพท์เศรษฐกิจยอดฮิต อัปสกิลการลงทุน
1. ดัชนีหุ้น
2. GDP
3. อัตราเงินเฟ้อ
4. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
5. อัตราแลกเปลี่ยน หรือ ค่าเงิน
6. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
7. การเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือ Fund Flow
8. นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง
9. มาตรการ QE และ QT
10. สินค้าโภคภัณฑ์
1. ดัชนีหุ้น
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือที่ได้เรียกกันสั้นๆ ว่า ดัชนีหุ้น เป็นเครื่องมือชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในภาพรวม โดยมีด้วยกันอยู่หลากหลายดัชนี เช่น ดัชนี SET หรือ SET Index คือ ดัชนีที่สะท้อนราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ, ดัชนี SET50 คือ ดัชนีที่สะท้อนราคาหุ้นที่มีสภาพคล่องและมูลค่าตลาดสูงสุด 50 ตัวแรก, ดัชนี SETHD คือ ดัชนีที่สะท้อนราคาหุ้น 30 ตัวที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงและจ่ายต่อเนื่อง, ดัชนี SET THSI คือ ดัชนีที่สะท้อนราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG เป็นต้น
ประโยชน์ของการติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมของตลาดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากทิศทางการขึ้นลงของดัชนี นอกจากนี้ เราสามารถนำดัชนีหุ้นมาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) วัดประสิทธิภาพการลงทุนได้ด้วย โดยการดูว่าหุ้นที่เราลงทุนนั้น สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหรือแย่กว่าตลาด
2. GDP
GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product ความหมายเต็มในภาษาไทย คือ ผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ เป็นตัวเลขที่สะท้อนมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป, Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน, Government Spending คือ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และ Net Export คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ
หากมีการรายงานว่าตัวเลข GDP ของไทยปรับตัวสูงขึ้น แปลว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีการเติบโต แต่หาก GDP ติดลบ ก็แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งเราสามารถนำปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนในอนาคตได้
3. อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อ คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ราคาพลังงาน ค่ารักษาพยาบาล เสื้อผ้า ราคาที่ดิน ฯลฯ ดังนั้น การที่ตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้น แปลง่าย ๆ ว่าราคาสินค้าแพงขึ้นนั่นเอง และส่งผลต่อมูลค่าเงินในกระเป๋าที่มีอยู่เท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าได้ปริมาณน้อยลง
เงินเฟ้อ ยังมีผลกระทบต่อการลงทุน เพราะการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนปรับลดลงด้วย เช่น หากออมเงินได้ผลตอบเฉลี่ย 5% ต่อปี แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี หมายความว่าผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนจะอยู่ที่ 2% เท่านั้น หลายคนจึงมองว่าเงินเฟ้อเป็นศัตรูสำคัญของการออมเงิน
ในอีกมุมหนึ่งการเกิดเงินเฟ้ออ่อน ๆ ถือว่าดีต่อตลาดหุ้น เพราะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจกำลังโตไปข้างหน้า แต่หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป ก็อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วย
4. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลาง หรือ แบงก์ชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์
ปกติแล้วธนาคารพาณิชย์จะปรับอัตราดอกเบี้ยในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจจะไม่ใช่ในระดับที่เท่ากันเป๊ะๆ เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น ความต้องการสินเชื่อ ปริมาณเงินฝาก อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการดำเนินงาน เป็นต้น
5. อัตราแลกเปลี่ยน หรือ ค่าเงิน
ในข่าวเศรษฐกิจจะมีคำว่า ‘เงินบาทแข็งค่า’ ‘เงินบาทอ่อนค่า’ สิ่งนี้แหละคืออัตราแลกเปลี่ยน โดยเป็นการเปรียบเทียบราคาของเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง เช่น เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แสดงว่าเรานำเงินบาทเท่าเดิม ไปแลกเงินดอลลาร์ได้ในจำนวนที่มากขึ้นนั่นเอง
การแข็งค่าหรืออ่อนค่าของสกุลเงิน เป็นผลจากความต้องการของสกุลเงินนั้น ๆ ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัย อาทิ อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายของธนาคารกลาง การค้าระหว่างประเทศ และปัจจัยการเมือง เป็นต้น ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนมีผลอย่างมากต่อธุรกิจเกี่ยวกับนำเข้า-ส่งออกสินค้า ธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่ต้องมีการซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบจากต่างประเทศ
6. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค หรือ Consumer confidence index เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงทัศนคติของประชาชนต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้น ๆ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากรายได้ การว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
ดัชนีวัดความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะสำรวจเป็นประจำทุกเดือน เราจึงสามารถนำข้อมูลตรงนี้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตด้วย เพราะหากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดี ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอยและลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ในทางกลับกันหากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ก็จะเริ่มประหยัดการใช้จ่ายและหยุดลงทุน ทำให้ระบบเศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลงตามด้วย
7. การเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือ Fund Flow
Fund Flow หมายถึง เงินจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบกองทุนที่มีมูลค่าสูง เพราะฉะนั้น เมื่อมี Fund Flow ไหลเข้าที่ไหน ก็มักส่งผลให้ตลาดหุ้นของประเทศนั้นปรับตัวสูงขึ้นตาม และทำให้ตลาดนั้นได้รับความสนใจยิ่งขึ้น
8. นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง
นโยบายเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. นโยบายการเงิน หรือ Monetary policy คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน ได้แก่ การควบคุมปริมาณเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง หรือ แบงก์ชาติ กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบาย
2. นโยบายการคลัง หรือ Fiscal policy คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้และรายจ่ายของรัฐบาล ได้แก่ การจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบาย
9. มาตรการ QE และ QT
QE และ QT เป็นหนึ่งในเครื่องมือนโยบายการเงินของธนาคารกลาง เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต หรือแตะเบรกชะลอเศรษฐกิจ
QE ย่อมาจาก Quantitative Easing คือ การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน โดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ก็ต้องแลกมากับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
QT ย่อมาจาก Quantitative Tightening คือ การย้อนกลับของ QE โดยการดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ด้วยการขายสินทรัพย์ทางการเงินที่เคยซื้่อไว้ เพื่อลดปริมาณสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งมักจะถูกนำออกมาใช้เวลาที่เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป
10. สินค้าโภคภัณฑ์
ชสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หมายถึง ประเภทสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1. Soft Commodity คือสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น
2. Hard Commodity คือสินค้าโภคภัณฑ์ที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ทองคำ เหล็ก ถ่านหิน เป็นต้น
สินค้าโภคภัณฑ์มีลักษณะที่เหมือนกันไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหน ราคาสินค้ากลุ่มนี้ถูกกำหนดโดยความต้องการของตลาดโลก โดยที่ผู้ผลิตไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าด้วยตัวเอง
หากเรามีความเข้าใจปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ ก็คงเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกของการลงทุนที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถนำปัจจัยทางเศรษฐกิจพิจารณาควบคู่กับบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุน
ข่าวเด่น