การค้า-อุตสาหกรรม
'อาเซียน' เตรียมชงข้อเสนอแนะด้านวิสัยทัศน์ AEC เสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ก.ย. นี้


‘พาณิชย์’ เข้าร่วมการประชุม HLTF-EI ครั้งที่ 42 เร่งจัดทำวิสัยทัศน์ของเสาเศรษฐกิจอาเซียนหลังปี 2568กำหนดกลยุทธ์ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกกลุ่ม และแนวทางฟื้นฟูภูมิภาคจากสถานการณ์โควิด -19 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 54 ช่วงเดือนกันยายนนี้
 

 
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) ให้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration: HLTF-EI) ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนที่จะผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 54 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กันยายนนี้

นางสาวโชติมา กล่าวว่า ที่ประชุมได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การวางแผนวิสัยทัศน์ของ AEC หลังปี 2568 (AEC Post-2025 Vision) ให้มีองค์ประกอบสำคัญที่ครอบคลุม กระชับ ชัดเจน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่เป็นรูปธรรม รองรับประเด็นท้าทายด้านเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยให้จัดตั้งคณะทำงานภายใต้ HLTF-EI และกลไกภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ดังกล่าว และ 2) การเสนอให้ AEM เห็นชอบหลักเกณฑ์การดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภาคีภายนอกอาเซียน (Economic Partnership Criteria Framework: EPCF) ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพของประเทศภาคีด้านการค้าการลงทุน ระดับความคาดหวังและการใช้ทรัพยากรการเจรจา รวมถึงมิติด้านการเมืองและความมั่นคง เพื่อสะท้อนรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ความตกลงเฉพาะรายสาขา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ การให้สิทธิพิเศษทางการค้า (PTA) และบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน โดยปัจจุบันมีประเทศนอกกลุ่มแสดงความสนใจร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับอาเซียนแล้ว อาทิ บังกลาเทศ ติมอร์-เลสเต และชิลี
 

 
นอกจากนี้ ยังติดตามข้อเสนอแนะจากการทบทวนแผนงานของ AEC ระหว่างปี 2559-2563 ความคืบหน้าการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคหลังโควิด-19 โดยเฉพาะการดำเนินการด้านดิจิทัลและความยั่งยืน ได้แก่ การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) การเปลี่ยนแปลงภูมิภาคไปสู่ความเป็นดิจิทัล การจัดทำแนวคิดของอาเซียนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การจัดทำแผนดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้ภูมิภาคใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีเศรษฐกิจที่สามารถปรับตัวได้ และเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งที่ประชุมเสนอให้ AEM มอบหมายองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 64,756 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 37,295 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18% และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 27,461 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20% ตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ส.ค. 2565 เวลา : 20:37:14
21-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 21, 2025, 3:47 am