ผู้เลี้ยงกุ้งจี้ Shrimp Board เร่งห้องเย็นรับซื้อกุ้งอย่า “ดึงเช็ง" รอราคาตกเท่าราคาประกันขั้นต่ำจึงเข้าซื้อ เพื่อลดต้นทุนการผลิต บีบเกษตรกรให้เร่งจับกุ้งขายในราคาต่ำ เพราะฝนตกหนักอาจทำให้ผลผลิตเสียหายและขาดทุนมาก
รายงานจากวงการผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวว่า ขณะนี้ราคากุ้งปากบ่อที่เกษตรกรขายได้ขณะนี้เป็นราคาเท่ากับราคาประกันขั้นต่ำ ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ประกาศ ซึ่งราคากุ้งลดลงเร็วมาก เนื่องจากเกษตรกรมีความจำเป็นต้องเร่งจับกุ้งขาย เพื่อลดความเสี่ยงจากอากาศแปรปรวนและฝนตกหนัก หากไม่จับอาจทำให้กุ้งตายและเสียหายทั้งบ่อได้ เนื่องจากฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนัก ยิ่งช่วงนี้มีมรสุม น้ำฝนไหลลงบ่อจำนวนมากทำให้ความเค็มของน้ำไม่ได้มาตรฐานและออกซิเจนลดลง ทำให้กุ้งกินอาหารน้อยลงจึงเติบโตช้า ซึ่งมีผลโดยตรงต่อราคา
ทั้งนี้ ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปรู้ดีว่า เกษตรกรประสบปัญหาช่วงฤดูฝนของทุกปี และจำเป็นต้องจับกุ้งขายก่อนครบระยะเวลาการเลี้ยง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยกุ้งไว้ในบ่อ จึงเป็นโอกาสของห้องเย็นที่จะชะลอการซื้อรอให้ราคาตกต่ำที่สุดจึงเข้าซื้อ ซึ่งเป็นการบีบให้เกษตรกรขายเพราะไม่มีทางออก ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย ขายได้ราคาต่ำดีกว่าปล่อยให้ผลผลิตเสียหาย
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 Shirmp Board มีมติกำหนดราคาประกันขั้นต่ำกุ้งขาวแวนนาไม เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการรับซื้อกุ้งไปจนถึงสิ้นปี 2565 โดยมีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพราคาและสร้างความเชื่อมั่นในการลงกุ้งรอบใหม่ของเกษตรกร กำหนดราคาเฉลี่ยตั้งแต่ราคา 119-180 บาทต่อกิโลกรัม ตามขนาดเล็ก-ใหญ่ตามน้ำหนักตั้ง 100-30 ตัวต่อกิโลกรัม ตลอดจนกำหนดมาตรฐานทางกายภาพของกุ้ง ต้องไม่มีหางไหม้ เนื้อน้ำตาล เปลือกหลุด หางกุดท้องดำ ตัวนิ่ม กุ้งผอม กุ้งพิการ ไม่เกิน 5% ต้องไม่มีกลิ่นหญ้า กลิ่นโคลนหรือกลิ่นผิดปกติอื่นๆ รวมถึงต้องมีผลตรวจสารตกค้าง 3 รายการ ได้แก่ Nitrofurans Fluoroquinolone และ Tetracycline ให้กับโรงงาน ณ วันจับกุ้ง Shrimp Board ยังตอกย้ำว่าเงื่อนไขดังกล่าวผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรธูปย้ำชัดเป็นราคารับซื้อปากบ่อ และเน้นกุ้งสวย สด ขนาดได้
ขณะนี้ผู้เลี้ยงกุ้ง ประสบปัญหาโรคระบาดเริ่มมากขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมรอบด้านโดยเฉพาะสภาพอากาศ จึงขอให้กรมประมงและ Shrimp Board มีมาตรการและแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดที่ชัดเจน ตลอดจนติดตามให้ห้องเย็นออกรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรทันที เพื่อสร้างความมั่นใจด้านราคาและเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการลงกุ้งรอบใหม่ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินมาแล้วมากกว่า 500 ล้านบาท
รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ผู้เลี้ยงกุ้งหลายพื้นที่เจอปัญหาเดียวกันราคากุ้งตกเร็ว ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจึงควรใช้โอกาสนี้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการนับซื้อในราคาที่ยุติธรรม ไม่ควรชะลอการซื้อเพื่อรอให้ราคาต่ำลงอีกเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร
ก่อนหน้านี้ กรมประมงและ Shirmp Board มีมติอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย จำนวน 10,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหากุ้งในประเทศขาดแคลน และสนับสนุนให้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปมีวัตถุดิบในการผลิต สามารถส่งมอบสินค้าทันเวลา โดยกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อช่วงเวลาที่เหมาะสมและจะต้องรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรในราคาตลาด แต่มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่อเสถียรภาพราคากุ้งไทยในระยะยาว เนื่องจากกุ้งนำเข้าจากต่างประเทศมีคุณภาพและราคาต่ำกว่ากุ้ง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์กุ้งไทยที่รักษาระดับคุณภาพ “พรีเมี่ยม” มาโดยตลอด กรมประมงและ Shrimp Board จึงควรพิจารณาแนวทางในการป้องกันโรค เพื่อเพิ่มอัตรารอดของกุ้งซึ่งจะส่งผลดีด้านต้นทุนและราคากุ้งในอนาคตและแบ่งปันผลร่วมกัน./
ข่าวเด่น