การค้า-อุตสาหกรรม
'ส้มแก้ว' สินค้าอัตลักษณ์ประจำถิ่น จ.สมุทรสงคราม เตรียมผลักดัน GI สร้ายรายได้เกษตรกร


นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ส้มแก้ว” เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมบริโภค ปัจจุบันพบปลูกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ประกอบกับจังหวัดสมุทรสงครามได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมส้มแก้วเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัด เพื่อพัฒนาสู่สินค้า GI ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการเกษตร (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเกษตร อัตลักษณ์พื้นถิ่น นอกจากนี้ ส้มแก้วยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย มีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย อีกทั้งยังเป็นผลไม้มงคลตามความเชื่อและความนิยมของชาวไทยเชื้อสายจีนในการนำไปไหว้ บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน สารทจีน และวันขึ้นปีใหม่


 
ด้านภาพรวมของสถานการณ์การผลิต (ข้อมูลจาก สศท.10 ณ กรกฎาคม 2565) พบว่า จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ปลูกรวม 60 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที เกษตรกรผู้ปลูก 36 ครัวเรือน ซึ่งส้มแก้วมีลักษณะคล้ายส้มโอผสมกับส้มเขียวหวาน คือ ผลกลมแป้น เนื้อเยอะ เนื้อฉ่ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว เป็นไม้ผลที่ต้องการแสงแดด เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น เนื่องจากส้มแก้วเป็นไม้ผลที่ต้องอาศัยร่มเงาจากไม้ผลชนิดอื่นในการเจริญเติบโต เกษตรกรจึงนิยมปลูกผสมผสานกับไม้ผลอื่น ๆ เช่น ลิ้นจี่ และส้มโอ (เฉลี่ยประมาณ 20 ต้น/ไร่)
 

 
สศท.10 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตส้มแก้ว พบว่า เกษตรกรสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ หลังจากปลูกได้ประมาณ 2 – 3 ปี ส้มแก้วจะเริ่มติดผลและจะให้ผลอย่างเต็มที่ประมาณปีที่ 5 – 7 โดยใน 1 ปี ส้มแก้วจะให้ผลผลิตปีละ 1 รุ่นเท่านั้น โดยช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวคือช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,250 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 66 จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ พ่อค้าท้องถิ่น และตลาดในจังหวัด ส่วนผลผลิต ร้อยละ 34 จำหน่ายโดยตรงที่หน้าสวน แผงขาย และช่องทางออนไลน์ของเกษตรกรเอง

 
ปัจจุบันเกษตรกรบางส่วนได้เริ่มนำเทคโนโลยีการใช้ถุงกระดาษคาร์บอนห่อผลผลิต เพื่อป้องกันการเจาะ และเข้าทำลายผลผลิตจากผีเสื้อมวนหวาน ช่วยลดการร่วงของผลผลิต ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ซึ่งได้ผลดีกว่าการห่อ ด้วยใบตองแห้ง (แบบเดิม) โดยเกษตรกรที่ใช้ถุงกระดาษคาร์บอนห่อผลผลิต จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,250 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ใช้การห่อด้วยใบตองแห้ง (แบบเดิม) จะมีผลผลิตเฉลี่ย 1,150 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้ถุงกระดาษคาร์บอนห่อผลผลิต จะมีผลผลิตมากกว่าการห่อด้วยใบตองแห้งร้อยละ 8

 
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ได้แก่ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสนใจหันมาพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ส้มแก้ว โดยส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ส้มแก้วที่มีความต้านทานโรค เพื่อให้มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานกว่าเดิม ส่งเสริมการใช้ถุงกระดาษคาร์บอนห่อผลและการจัดเก็บอย่างถูกวิธี เพื่อสามารถนำไปใช้ซ้ำได้ กรณีที่เกษตรกรปลูกเชิงพาณิชย์หรือมีพื้นที่ปลูกมากเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผลผลิต ผลักดันการขึ้นทะเบียนสิงบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดในรูปแบบต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวตามฤดูกาลของผลไม้ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการผลิตของนักท่องเที่ยวและเกษตรกร เช่น การห่อส้มแก้ว การเก็บผลผลิต เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ อาทิ ติดฉลากข้อมูลและประโยชน์ของส้มแก้ว ทั้งนี้

ท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตส้มแก้วของจังหวัดสมุทรสงคราม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 จังหวัดราชบุรี โทร 0 3233 7541 อีเมล zone10@oae.go.th

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ส.ค. 2565 เวลา : 10:25:09
21-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 21, 2025, 3:49 am