การค้า-อุตสาหกรรม
'อาเซียน-ญี่ปุ่น' เตรียมแจ้งการมีผลบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ ต่อ WTO ปัดฝุ่นความตกลง AJCEP ขยายการค้าสินค้า-บริการ-การลงทุน


‘อาเซียน-ญี่ปุ่น’ เห็นชอบให้แจ้งการมีผลบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP ต่อ WTO พร้อมให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการค้าบริการและการลงทุน หารือประเด็นคงค้าง ทั้งการจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการลงทุนของประเทศภาคี ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และการจัดทำรายการความโปร่งใส เล็งหาแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ AJCEP


 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP–JC) ครั้งที่ 20 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังจากว่างเว้นมากว่า 2 ปี โดยที่ประชุมได้หารือถึงการแจ้งการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น (AJCEP) ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) การจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการค้าบริการและการลงทุน การบังคับใช้พิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะราย (PSRs) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2017 (HS 2017) และแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ AJCEP

 
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อาเซียนและญี่ปุ่นได้เจรจาพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นการขยายความตกลงฉบับปัจจุบันที่ครอบคลุมเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้าเป็นหลัก รวมไปถึงการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน โดยเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารฯ ทำให้ที่ประชุม AJCEP–JC เห็นชอบให้มีการแจ้งการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ ต่อ WTO ต่อไป และเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการค้าบริการและการลงทุน เพื่อหารือประเด็นคงค้างที่ระบุไว้ภายใต้พิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ อาทิ การเจรจาจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการลงทุนของแต่ละประเทศภาคีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และการจัดทำรายการความโปร่งใส ซึ่งเป็นการจัดทำตารางกฎหมายหรือมาตรการในปัจจุบันสาขาบริการที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีของแต่ละประเทศภาคี
 
 
นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตราภาษีและมูลค่าการนำเข้ารายพิกัดสินค้าของแต่ละประเทศภาคี โดยเฉพาะข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง AJCEP โดยอาเซียนและญี่ปุ่นจะหารือในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ ประเทศภาคีส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำไปวิเคราะห์แนวทางการเพิ่มอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง AJCEP มากขึ้น
 
 
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง AJCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 321.13 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 4.01% ของมูลค่าส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ฯ และไทยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นภายใต้ความตกลง AJCEP มูลค่า 217.13 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 2.15% ของมูลค่านำเข้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2565 เวลา : 17:25:54
21-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 21, 2025, 7:54 am