นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนี้ว่า จากการชี้แจงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ค่าการตลาด ยังอยู่ในกรอบที่กระทรวงพลังงานติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งแนวทางการพิจารณาค่าการตลาดอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นั้นจะพิจารณาในภาพรวมของน้ำมันทุกชนิด เนื่องจากสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันหลายประเภท และจะพิจารณาเปรียบเทียบเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน หากเปรียบเทียบเป็นรายวันจะมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากราคาเนื้อน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันตามราคาตลาดโลก
สำหรับค่าการตลาด คือ รายได้ของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันที่ยังไม่ได้หักค่าดำเนินการ ค่าขนส่งน้ำมันจากคลังมาหน้าสถานีบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายๆ อื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าการตลาดของผู้ให้บริการแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน ค่าการตลาดที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเผยแพร่เป็นค่าการตลาดอ้างอิงที่มาจากการคำนวณเพื่อใช้ในการติดตามดูแลกรอบค่าการตลาด
ทั้งนี้ หากจะพิจารณาค่าการตลาดน้ำมัน ควรจะดูในภาพรวมของผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่าย ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งทางภาครัฐได้มีการศึกษากรอบค่าการตลาดซึ่งควรอยู่ที่ 2 บาท และ +/- ได้ 0.40 บาทต่อลิตร ซึ่งหากพิจารณาค่าการตลาดเฉลี่ย 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ( 26 ส.ค. 65 – 2 ก.ย. 65) ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกประเภท ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลจะอยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งก็อยู่ในกรอบที่ภาครัฐกำหนด
สำหรับกรณีมีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันดีเซลที่สูง ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการปรับลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลง ทำให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ประชุม กบน. ในวันที่ 2 กันยายน 2565 ได้มีมติลดเงินชดเชยน้ำมันดีเซลลง 1.21 บาท /ลิตร (เดิมชดเชย 4.13 บาท เป็น 2.92 บาท/ลิตร)
เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าราคาประเทศไทยยังถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับสูง โดยมีรายละเอียดดังภาพ (ดูกราฟิกราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน)
ข่าวเด่น