หุ้นแตกพาร์ หรือ การแตกหุ้น (Stock Split) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ปรับแผนโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาหุ้นและจำนวนหุ้นในตลาด คำถามคือเมื่อหุ้นที่เราถืออยู่มีการแตกพาร์ จะเกิดผลดีหรือผลเสียอะไรบ้าง และผู้ถือหุ้นควรจะทำอย่างไรต่อไป
หุ้นแตกพาร์ คืออะไร
ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจก่อนว่า ราคาพาร์ (Par Value) คือ มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น ณ วันเริ่มแรก โดยนำทุนจดทะเบียนหารด้วยจำนวนหุ้นที่บริษัทออก เช่น บริษัท A เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 100 ล้านหุ้น ราคาพาร์ของหุ้น A จึงเท่ากับ 10 บาท พูดง่าย ๆ ว่าราคาพาร์เปรียบเสมือนต้นทุนเริ่มแรกของผู้ก่อตั้งบริษัทก็ได้
เมื่อบริษัทดำเนินกิจการไปสักพัก หากต้องการจะปรับโครงสร้างการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซื้อขายหุ้นได้ง่ายขึ้น วิธีที่มักจะใช้ก็คือการลดราคาพาร์และเพิ่มจำนวนหุ้น หรือที่เรียกกันว่า ‘การแตกพาร์’ นั่นเอง โดยเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นด้วยการแตกหุ้นออกเป็นหลาย ๆ ส่วน ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นลดลงตามสัดส่วน แต่มูลค่าโดยรวมยังเท่าเดิม
เทียบให้เห็นภาพขึ้น หุ้นบริษัทก็เหมือนพิซซ่า 1 ถาดที่หั่นขายออกเป็นชิ้น ๆ เดิมแบ่งขายออกเป็น 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 100 บาท แปลว่าราคารวมของพิซซ่าถาดนี้อยู่ที่ 400 บาท
แต่เมื่อขายไปสักพัก เรารู้สึกว่าราคาต่อชิ้นแพงเกินไป จึงหั่นให้ชิ้นเล็กลงเพื่อให้จำนวนพิซซ่าเพิ่มเป็น 8 ชิ้น ซึ่งก็จะทำให้ราคาขายต่อชิ้นถูกลงเหลือชิ้นละ 50 บาท ทำให้ขายง่ายขึ้น แต่พิซซ่าทั้งถาดยังมีขนาดเท่าเดิม และมูลค่ารวมไม่ได้เปลี่ยนแปลง
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหุ้นแตกพาร์
ยกตัวอย่าง หุ้น A ราคาพาร์ 10 บาท มีจำนวนหุ้นในตลาด 100 ล้านหุ้น
ราคาหุ้น 200 บาท คิดเป็น Market Cap. 20,000 ล้านบาท
ต่อมาบริษัทแตกพาร์เหลือ 1 บาท จำนวนหุ้นในตลาดจึงเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านหุ้น
ราคาหุ้นลดลงเป็น 20 บาท คิดเป็น Market Cap. 20,000 ล้านบาท
เห็นแบบนี้เราจึงพอสรุปได้ว่าการแตกพาร์ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหุ้น ดังนี้
1. จํานวนหุ้นมากขึ้น เพิ่มสภาพคล่องการลงทุน
เป้าหมายหลักของการแตกพาร์ คือ การเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นในตลาด เมื่อราคาพาร์ลดลง จํานวนหุ้นเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้หุ้นตัวนั้นซื้อขายง่ายขึ้น เป็นการขยายฐานผู้ถือหุ้นรายย่อยทำให้ Free Float สูงขึ้น และอาจมีแรงเก็งกำไรเข้ามาจากนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น
2. ราคาหุ้นลดลง เปิดโอกาสให้ซื้อขายง่ายขึ้น
หากราคาหุ้นสูงเกินไป ก็ยากที่นักลงทุนรายย่อยจะเอื้อมถึง เพราะจะซื้อแต่ละทีต้องใข้เงินทุนจำนวนมาก แต่เมื่อแตกพาร์แล้วจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น และราคาหุ้นก็จะลดลงตามสัดส่วนเช่นกัน จึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นได้ง่ายขึ้น โดยใช้เงินลงทุนที่น้อยลง
เช่น เดิมหุ้นมีราคาพาร์ 10 บาท และราคา 200 บาทต่อหุ้น แปลว่าซื้อหุ้นขั้นตํ่า 1 Board Lot (100 หุ้น) ต้องใช้เงิน 20,000 บาท (100 หุ้น x 200 บาทต่อหุ้น)
แต่เมื่อแตกพาร์เป็น 1 บาท ราคาลดลงเหลือ 20 บาทต่อหุ้น แบบนี้มีเงินเพียง 2,000 บาท (100 หุ้น x 20 บาทต่อหุ้น) ก็เริ่มลงทุนได้แล้ว
3. มูลค่าหลักทรัพย์ (Market Cap.) ยังคงเท่าเดิม
จการแตกพาร์ไม่มีผลต่อมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) เหมือนที่อธิบายไปว่าการแตกพาร์ คือ การหั่นพิซซ่าเป็นชิ้นเล็กลงเพื่อให้ได้จำนวนชิ้นมากขึ้น แต่ไม่ว่าเราจะหั่นชิ้นเล็กแค่ไหน ขนาดของพิซซ่าทั้งถาดก็ยังเท่าเดิมอยู่ดี
ควรทำอย่างไร เมื่อหุ้นแตกพาร์
สรุปอีกครั้งว่าจุดประสงค์ของการแตกพาร์ หรือ แตกหุ้น เพื่อต้องการเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขาย จึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพื้นฐานธุรกิจและงบการเงินของบริษัท ดังนั้น หากเรายังเชื่อมั่นในพื้นฐานของหุ้นที่ถือ ก็สามารถลงทุนตามกลยุทธ์เดิมที่วางไว้ได้เลย
นอกจากนี้ การแตกพาร์ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อมูลค่าของหุ้นที่ถือ (Dilution Effect) และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น เพียงแค่จำนวนหุ้นในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่แตกพาร์เท่านั้น แต่มูลค่ารวมยังเท่าเดิม จึงไม่ควรใช้การแตกพาร์มาเป็นปัจจัยในการวิเคราะห์พื้นฐานธุรกิจ
แต่จุดสังเกตที่ควรระวังหลังหุ้นแตกพาร์ คือ การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่มีความเกี่ยวข้องกับ “จำนวนหุ้น” เช่น กำไรต่อหุ้น (Earning per share) และเงินปันผลต่อหุ้น (Dividend per share) รวมทั้งที่เกี่ยวข้องกับ “ราคาหุ้น” เช่น P/E และ P/BV เพราะอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้จะมีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแตกพาร์ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างงวด เราควรปรับการคำนวณให้เป็นราคาพาร์เดียวกันก่อน เพื่อให้การวิเคราะห์เป็นไปอย่างถูกต้อง
อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยาอยู่บ้าง เพราะในวันแรกที่มีการแตกพาร์ ราคาหุ้นจะปรับลดลงตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารของหุ้นตัวนั้น อาจเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าหุ้นลงจากปัจจัยทางธุรกิจ จึงนำมาสู่ความผันผวนของราคาหุ้นระยะสั้น แต่สุดท้ายในระยะยาว ราคาหุ้นก็จะวิ่งเข้าหามูลค่าที่เหมาะสมอยู่ดี ดังนั้น ขอแนะนำให้หมั่นติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
ข่าวเด่น