ซีเอสอาร์-เอชอาร์
ซีพีเอฟ เดินหน้า "คืนสุขสู่ผู้สูงวัย" ปี 12 สร้างรอยยิ้ม เติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุในชุมชน


ปี 2565 ประเทศไทยก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือวางโครงสร้างกับสังคมผู้อายุระยะยาว
 

 
การดูแลผู้สูงวัยในสังคม เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย และสอดคล้องกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท โรงงานและฟาร์มของบริษัททุกแห่ง จึงได้สำรวจความต้องการชุมชน โดยพบว่าในชุมชนโดยรอบสถานประกอบการมีผู้สูงอายุ ที่ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้ที่แน่นอน บางรายมีความพิการของร่างกาย ถูกทอดทิ้งขาดคนเหลียวแล และบางรายไม่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
 

 
ชาวซีพีเอฟจึงอาสาเข้าไปส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยจัดทำ “โครงการ ซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาดังกล่าวให้ได้คลายความทุกข์ยากในเบื้องต้นไปได้ และในปี 2555 ได้จัดตั้ง “กองทุน ซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” เพื่อส่งเสริมต้นแบบความกตัญญู ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงวัย 

 
ซีพีเอฟ ร่วมกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเครือข่าย อาทิ อบต. เทศบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ในการคัดเลือกผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างจากโรงงาน ฟาร์ม หรือสาขาของบริษัท ไม่เกิน 5 กิโลเมตร มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้ดูแล หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

 
เมื่อได้รับอนุมัติแล้วทีมงานซีพีเอฟจะดำเนินการร่วมกับเครือข่าย เช่น รพ.สต. อสม. อสส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการออกเยี่ยมเยียน ติดตามความเป็นอยู่ ดูแลให้ความช่วยเหลือผู้สูงวัย พร้อมมอบเงิน 2,000 บาทต่อเดือน เพื่อสนับสนุนด้านสุขภาพ เครื่องอุปโภคบริโภค และที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง 

 
ลุงบุญชม แกมรัมย์ หรือลุงชม อายุ 64 ปี ชาวตำบลบ้านกลับ อ.หนองโดน จ.สระบุรี ผู้สูงวัยภายใต้การดูแลของฟาร์มพระพุทธบาท จ.สระบุรี ที่มีความพิการด้านร่างกาย ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่ประกอบอาชีพไม่ได้จึงไม่มีรายได้ แม้จะมี ป้าสุนีย์ ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกันคอยดูแล แต่ก็ป่วยเป็นเบาหวานและต้อกระจก เคลื่อนไหวไม่สะดวก ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ที่สำคัญบุตรหลานยังทอดทิ้งขาดการติดต่อ ยังดีที่ได้รับความช่วยเหลือจาก คำนึง หลักเมือง ที่ให้พื้นที่ในการปลูกบ้านแบบไม่คิดค่าเช่า โดยมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพสำหรับผู้พิการ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยรวม 1,700 บาท และมีสิทธิบัตรทอง การที่ซีพีเอฟมอบเงินทุกเดือน ช่วยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้กินอิ่มนอนหลับ จิตอาสาของบริษัท ร่วมกับอสม.เข้ามาดูแลสุขภาพ ตรวจวัดความดัน มาให้กำลังใจ ทำให้มีความสุข ขอขอบคุณทีมงานทุกๆคนที่คอยห่วงใยและจัดโครงการดีๆเช่นนี้

ในช่วงที่ร่างกายยังปกติลุงชมเป็นผู้มีจิตอาสา สมัครเป็นตำรวจบ้านออกตรวจความเรียบร้อยร่วมกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีสิ่งตอบแทน จึงกลายเป็นที่รักของคนในชุมชน เมื่อป่วยก็ได้รับการดูแลอย่างดี ซีพีเอฟคัดเลือกลุงชมเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นตัวแทน "ความกตัญญู" ตอบแทนความดีที่เคยสร้างมา เป็นแบบอย่างส่งเสริมการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
 

 
ทางด้าน ตาสะอาด เสนะโกวร อายุ 79 ปี กล่าวด้วยน้ำตาว่า ตนเองเป็นผู้ป่วยติดเตียง ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ที่ทีมงานโรงเพาะฟักลูกกุ้ง ซีพีเอฟ จ.ตราด มาดูแลและมอบเงินให้ 2 พันบาท ก็นำไปซื้อข้าว ซื้อยา และดีใจมากทุกครั้งที่ลูกหลานชาวซีพีเอฟมาให้กำลังใจ เช่นเดียวกับ ตาหยัด กิตติวุฒิ อายุ 80 ปี บอกว่า ดีใจมากที่ได้ร่วมโครงการคืนสุขผู้สูงวัยปีนี้เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว บริษัทเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพได้มาก มีทีมงานซีพีเอฟตราดเข้ามาดูแลสุขภาพอยู่บ่อยๆ ทำให้คนชราที่อยู่คนเดียวได้หายเหงา ขอขอบใจทุกคนที่เสียสละมาเยี่ยมมาหาเป็นประจำ ส่วน คุณยายลำไย สิงห์สุระ อายุ 74 ปี กล่าวว่า ดีใจที่ซีพีเอฟมาช่วยเหลือเป็นประจำทุกๆ เดือน มาคอยดูแลสุขภาพ และเป็นกำลังใจให้กันเช่นนี้ 

 
สายัญ ชาติกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด กล่าวขอบคุณซีพีเอฟ ที่เข้ามาดูแลผู้สูงอายุชาวคลองใหญ่ ที่ถูกทอดทิ้งบุตรหลานไม่ดูแล รวม 11 คน ทุกเดือนเจ้าหน้าของบริษัทจะเข้ามาส่งเสริมช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานรัฐ อยากให้ดำเนินโครงการดีๆแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยในชุมชนอย่างยั่งยืน
 

 
ด้าน ตาเลิศ ลักภูกลาง อายุ 83 ปี ชาวตำบลหนองน้ำแดง อ.ปากช่อง ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPLI) และเป็นผู้สูงวัย หนึ่งใน 18 รายที่ร่วมโครงการฯ ภายใต้การดูแลของทีมงานซีพีเอฟจิตอาสา โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เล่าว่าตนเองอยู่คนเดียว ภรรยาเสียชีวิตแล้ว ส่วนลูกมีครอบครัวก็แยกตัวออกไป ไม่ได้มาดูแล ตอนนี้แม้มีแรงพอไปไหนได้ แต่ตาเริ่มมองไม่เห็น รู้สึกดีใจมากตลอด 11 ปีที่ผ่านมา รอดตายมาได้ก็เพราะซีพี ซีพีเอฟมาช่วย ได้เงินมาซื้อข้าวปลาอาหารในแต่ละวัน เก็บบางส่วนเผื่อเวลาเจ็บป่วยก็ได้ไปหาหมอ ด้าน ยายนารี คำอยู่ อายุ 69 ปี ชาวตำบลหมูสี อ.ปากช่อง บอกว่าเริ่มเดินเหินไม่สะดวกแล้ว ที่ผ่านมาดีใจมากที่ซีพีเอฟมาช่วยดูแล ถ้าไม่ได้ทีมงานมาช่วยก็คงไม่ได้อยู่แบบนี้แล้ว เพราะไม่มีญาติพี่น้อง ยังดีที่ได้กำลังใจจากชาวซีพี มีเงินสนับสนุนที่ได้ทุกเดือนได้มาจ่ายค่าไฟ ซื้อยา อาหาร สอดคล้องกับ และอยากให้ช่วยเหลือแบบนี้ตลอดไป สอดคล้องกับ ยายสวิด หาญสันเทียะ อายุ 73 ปี ที่กล่าวขอบคุณโครงการดีๆที่บริษัทสนับสนุน เงินที่ได้ช่วยต่อชีวิต นำมาซื้อข้าว กับข้าว และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขอให้บุญกุศลนี้ให้บริษัทและทีมงานทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป
 
 
คำรณ กนกชัชวาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำแดง กล่าวว่า โครงการฯ นี้สร้างประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างมาก รู้สึกดีใจอย่างมากที่ซีพีเอฟ มามอบทุนช่วยเหลือผู้ชราที่ยากไร้ใน ต.หนองน้ำแดง ขอขอบคุณ ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่สนับสนุนการร่วมดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้าน วิชิต อกอุ่น ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำแดง เสริมว่า รู้สึกยินดีและขอบคุณอย่างยิ่งที่ซีพี ซีพีเอฟ จัดโครงการช่วยเหลือพี่น้องชาวหนองน้ำแดง มากว่า 10 ปี ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนได้นำเงินไปใช้ให้เป็นประโยชนทั้งด้านความเป็นอยู่และเลี้ยงชีพ 

ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2554 – 2565 ซีพีเอฟมีส่วนร่วมสร้างรอยยิ้ม และเต็มเติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุในชุมชน รวม 874 ราย กระจายในภูมิภาคต่างๆ 52 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทีมงานจิตอาสาจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ 9 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 74 แห่ง โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร 29 แห่ง โรงฟักไข่และศูนย์คัดไข่ 5 แห่ง โรงเพาะฟักลูกกุ้ง 4 แห่ง  โรงงานแปรรูปอาหาร 10 แห่ง กิจการสาขาและเครือข่ายการขาย 3 แห่ง ตลอดจนศูนย์ผลิตและปรับปรุงพันธุ์ปลาน้ำจืด 1 แห่ง ใช้งบประมาณโครงการฯ ถึงปัจจุบันรวม 113,290,000 บาท 
 
 
“โครงการคืนสุขสู่ผู้สูงวัย” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยรอบสถานประกอบการของบริษัท ที่ไม่มีลูกหลานดูแล ไร้ที่พึ่งพิงและเป็นการให้ความช่วยเหลือตลอดชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุได้มีมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งความกตัญญูอย่างยั่งยืน./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2565 เวลา : 13:04:57
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 10:41 am