‘สินิตย์’ หารือสมาชิกรัฐสภาเอฟตา กระชับความสัมพันธ์การค้าการลงทุน ดันสรุปผลเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ภายใน 2 ปี ชี้! จะกลายเป็น FTA ยุคใหม่ที่ทันสมัย ช่วยลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน พร้อมร่วมมือส่งเสริม BCG Model และ MSMEs ชวนเอฟตาลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ย้ำไทยเป็นตลาดและฐานการลงทุนที่มีศักยภาพ และเอฟตาใช้ไทยเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เข้าพบหารือกับนางสาวอิงกิเบิร์ก โอเลิฟ อิซัคเซน ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟตา (European Free Trade Association Parliamentary Committee) เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา พร้อมด้วยสมาชิกรัฐสภาจาก 4 ประเทศสมาชิกเอฟตา ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ณ ทำเนียบรัฐบาล เนื่องในโอกาสที่ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาเอฟตา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยได้หารือแนวทางขยายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน และมุ่งเน้นผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-เอฟตา ซึ่งได้เริ่มเจรจารอบแรก เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และกำหนดเจรจารอบสองในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้
นายสินิตย์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-เอฟตา ให้สำเร็จโดยเร็วภายใน 2 ปี ซึ่งจะเป็นความตกลง FTA ยุคใหม่ ครอบคลุมประเด็นที่ทันสมัย เพื่อให้ภาคเอกชนและประชาชนได้ประโยชน์จากข้อตกลงเปิดเสรีและลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย อาทิ การถ่ายทอดความรู้เชิงเทคนิคและเทคโนโลยี การส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดเล็ก (MSMEs) แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งสมาชิกรัฐสภาเอฟตาจะช่วยผลักดันและสื่อสารกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การเจรจา FTA ไทย-เอฟตา สำเร็จตามที่ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายไว้
นายสินิตย์ เสริมว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งได้ชวนให้เอฟตาขยายการค้าการลงทุนมายังไทย โดยเฉพาะสาขานวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งเอฟตาสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้า (Gateway) สู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับฝ่ายเอฟตา เห็นว่าไทยเป็นตลาดและฐานการลงทุนที่มีศักยภาพ โดยมีโอกาสที่จะพัฒนาและขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไปในอนาคต
สำหรับคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาเอฟตา เป็นกลไกสำคัญของกลุ่มประเทศเอฟตา เปรียบเสมือนที่ปรึกษาด้านการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่เอฟตามีความตกลง FTA หรืออยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีเเรก (ม.ค. – มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยและเอฟตา มีมูลค่า 6,087.16 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 3,027.92 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 3,059.25 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค
ข่าวเด่น