กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลสัมมนาเจาะตลาดอเมริกาใต้ แนะใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ชิลี และไทย-เปรู เป็นใบเบิกทาง ชี้! เปรู สนใจอาหาร ประมง เครื่องสำอาง ยา ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนชิลีสนใจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในการผลิตหุ่นยนต์ การแพทย์ รถอีวี แนะผู้ประกอบการควรศึกษาให้รอบด้านก่อนทำการค้าและการลงทุน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “FTA ไทย-ชิลี และไทย-เปรู : โอกาสสู่ตลาดอเมริกาใต้” โดยได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน ร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการค้าการลงทุนของเปรูและชิลี โอกาส ความท้าทาย และข้อเสนอแนะในการทำการค้ากับประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้
นางสาวจณัญญา บัณฑุกุล ผู้อำนวยการสำนักอเมริกา แปซิฟิกและองค์การระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ภูมิภาคอเมริกาใต้ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจำนวนประชากรราว 700 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของประชากรโลก โดยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) การค้ารวมของไทยกับภูมิภาคอเมริกาใต้ มีมูลค่า 8,166.70 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.77%) เมื่อเทียบกับการค้าของไทยกับโลก นอกจากนี้ ยังได้จัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ชิลี และความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย-เปรู โดยในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2565 มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงทั้งสองสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับ FTA กรอบอื่นๆ ของไทย
ด้านนางสาวเซซิเลีย ซูนิลดา กาลาเรตา บาซาน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย เพิ่มเติมว่า เปรูเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในลาตินอเมริกา และปัจจุบันมีความตกลงทางการค้าเสรีมากถึง 22 ฉบับ ครอบคลุม 58 ตลาดทั่วโลก สำหรับไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 2 ของเปรู ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเปรูสนใจไทยในอุตสาหกรรมด้านอาหาร ประมง เครื่องสำอาง ยา และชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับผู้ประกอบการไทยสนใจเปรูในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่มีโภชนาการสูงรายใหญ่ของโลก อาทิ ควินัว และเมล็ดเจีย
นายเฟอร์นันโด เบร์กุนโญ อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย และนายบรูโน โรเวโต้ รักษาการแทนหัวหน้าสำนักส่งเสริมการส่งออกของชิลี ให้ข้อมูลว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ ชิลีมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเอเชียเป็นตลาดส่งออกหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของการส่งออกทั้งหมด และเห็นว่าไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ เครื่องมือทางการแพทย์ และรถยนต์ EV ทั้งนี้ FTA ไทย-ชิลี มีส่วนสำคัญต่อการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งด้านการค้าสินค้าที่มีสินค้ากว่า 7,000 รายการ ลดภาษีเป็น 0 และด้านการค้าบริการที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในชิลีได้ 100%
นางสาวรัตนาภรณ์ สิงห์ศักดา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก เสริมว่า ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำ FTA เป็นจำนวนมาก จึงเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่สามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA นอกจากนี้ ชิลีมีแนวโน้มความต้องการสินค้าออนไลน์ สินค้าอาหารจัดเลี้ยง และสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น พร้อมเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ไร่ไวน์ การท่องเที่ยว เหมืองแร่ และพลังงานทดแทน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปลงทุนในชิลี ควรศึกษาและพิจารณาความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรอบด้าน และปัจจัยด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ
ดร.จักรกรินทร์ ศรีมูล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าอาเซียนและลาตินอเมริกา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปลงทุนในอเมริกาใต้ โดยจะต้องศึกษาข้อมูลประเทศที่ต้องการไปเจาะตลาดให้รอบด้าน อาทิ ภาษา นโยบายการค้า การลงทุน ภาวะเศรษฐกิจ ความตกลงการค้าเสรี และภาวะเงินเฟ้อ โดยที่สำคัญผู้ประกอบการจะต้องมีความกล้าในการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศที่น่าสนใจ คือ บราซิล ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย และโคลอมเบียเป็นตลาดใหม่ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ข่าวเด่น