การค้า-อุตสาหกรรม
โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ฟื้นฟูภาคเกษตร สร้างรายได้ 1,483 ล้านบาท


ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งเสริมการรวมกลุ่มเข้มแข็ง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการ โดยมุ่งเน้นกลุ่มเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง ซึ่งโครงการดังกล่าว มีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยกำหนดเป้าหมายเกษตรกร 32,000 ราย และจ้างแรงงานเกษตรทฤษฎีีใหม่่ระดับตำบล 16,000 ราย ในพื้นที่ 4,009 ตำบล 75 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564


 
สศก.โดยศูนย์ประเมินผล ซึ่งมีภารกิจในการประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการหลังสิ้นสุดโครงการ พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27,117 ราย (ร้อยละ 85 ของเป้าหมาย 32,000 ราย) เกิดการจ้างแรงงาน 15,102 ราย (ร้อยละ 94 ของเป้าหมาย 16,000 ราย) ในพื้นที่ 4,009 ตำบล ส่งผลให้เกิดพื้นที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 96,218.50 ไร่ (ร้อยละ 77 ของเป้าหมาย 125,615 ไร่) และมีพื้นที่กักเก็บน้ำ 67.5520 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 77 ของเป้าหมาย 87.9987 ล้านลูกบาศก์เมตร)
 
 
หากพิจารณาถึงกลุ่มตัวอย่างจากการลงพื้นที่ของ สศก.โดยสำรวจตัวอย่างเกษตรกร 1,319 ราย ครอบคลุม 4 ภาค รวม 26 จังหวัด พบว่า เกษตรกรร้อยละ 54 สามารถมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตในแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายผลผลิตประเภทพืชผัก เช่น พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว โดยมีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 8,161 บาทต่อครัวเรือนต่อปี (เพิ่มขึ้น 2,798 บาทต่อครัวเรือนต่อปี)
 

 
และจากการดำเนินโครงการทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6,098 ล้านบาท โดยเป็นการสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตรรวมกว่า 1,483 ล้านบาท เช่น สาขาการเลี้ยงสัตว์ปีก การประมงน้ำจืด การปลูกพืชผัก การทำสวนไม้ผล เป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้รับการพัฒนาอาชีพและการตลาด เกิดการรวมกลุ่มใหม่ๆ ถึง 106 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มด้านพืช รองลงมาคือ ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งหากคิดเป็นรายได้ในรอบ 6 เดือน กลุ่มเกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการเข้าร่วมโครงการเฉลี่ยกลุ่มละ 23,875 บาท

ในส่วนของผู้รับจ้างงาน จากการสำรวจตัวอย่างผู้รับจ้างงานที่เข้าร่วมโครงการฯ 676 ราย ครอบคลุม 4 ภาค รวม 26 จังหวัด พบว่า มีแรงงานคืนถิ่นร้อยละ 6 กลับมาทำงานในพื้นที่ โดยเป็นการจ้างงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการทำหน้าที่่ประสานเชื่อมโยงการทำงาน ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้้ และแก้้ไขปัญหาด้านการเกษตรให้้เกษตรกร สำรวจ จัดเก็บ และรายงานข้อมูลพื้นฐานทางการเกษตรให้้เป็นปัจจุบัน รวมถึงติดตามสถานการณ์์การเกษตรรายแปลง และรายงานเหตุุการณ์์ฉุกเฉินเร่งด่วนต่อหน่วยงาน ประสานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ช่วยเหลือปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่ให้เป็นปัจจุบัน ดังนั้น จึงช่วยลดปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ โดยหลังสิ้นสุดการจ้างงาน แรงงานจ้างในโครงการร้อยละ 54 ได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว
 

 
สำหรับภาพรวมโครงการฯ เกษตรกรถึงร้อยละ 99 พอใจและมีความตั้งใจทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ หลังสิ้นสุดโครงการ ผู้รับจ้างงานบางส่วน ยังคงให้ความช่วยเหลือ เช่น ประสานงานเกษตรกรในพื้นที่กับหน่วยงาน การจัดเตรียมสถานที่ในการจัดงานต่างๆ ให้กับสำนักงานเกษตรอำเภอโดยไม่ได้รับผลตอบแทน ซึ่งนับเป็นการเกื้อกูลกัน เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน

จากผลสำเร็จของโครงการ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากสระกักเก็บน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสนับสนุนผู้รับจ้างงานที่มีศักยภาพไปเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการ และเป็นผู้นำด้านการเกษตรในท้องถิ่นต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2565 เวลา : 12:16:20
21-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 21, 2025, 11:13 am