สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “การยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม: ด้านพืช สมุนไพร” ร่วมกับ 3 จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม รวมทั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับการปลูกพืชสมุนไพร นำร่องขิง ไพล ฟ้าทะลายโจร พร้อมเชื่อมโยงบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และบริษัท กุยลิ้มฮึ้ง จำกัด รับซื้อผลผลิตคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการตลาด เปิดช่องทางการตลาดใหม่ สร้างเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากให้ยั่งยืนโดยใช้ฐานทรัพยากรในพื้นที่
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีสมุนไพรกว่า 10,000 ชนิด โดยร้อยละ 15.5 ของชนิดสมุนไพร นำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยก่อนสถานการณ์โควิดมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยขยายตัวถึง 5.2 หมื่นล้านบาท สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาได้ดำเนินงานด้านสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร ทั้งการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและระบบไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) สำหรับผลิตต้นพันธุ์สมุนไพรปลอดโรค การใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่นแปรรูปสมุนไพร การจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ ตลอดจนการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
“นอกจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและความพร้อมของเครื่องมือแล้ว สวทช. ยังให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชนโดยใช้กลไกตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นการทำงานที่บูรณาการความร่วมมือแบบจตุภาคีจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างการเรียนรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกร ซึ่งภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ สวทช. จะร่วมส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒนา ทดสอบ สาธิต และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชสมุนไพรให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้จะนำร่องกับพืชสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ขิง ไพล และฟ้าทะลายโจร โดยเบื้องต้นมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มหาสารคามและร้อยเอ็ด ให้ความสนใจนำร่องผลิตพืชสมุนไพรจำนวน 497 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดให้นโยบาย BCG Economy เป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจฐานชีวภาพที่มีการใช้ประโยชน์จากการหมุนเวียนทรัพยากรไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับเกษตรกร โดยไม่ทอดทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนโดยเฉพาะมิติทางด้านเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยกำหนดวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร มีกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัด เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน GAP
“สมุนไพรเป็นอีกหนึ่งพืชที่เกษตรกรสามารถปลูกเป็นพืชหลักหรือเป็นพืชแซม ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกสมุนไพร 317 ไร่ มีเกษตรกรที่ปลูกสมุนไพร 256 คน โดยปลูกสมุนไพรหลากชนิด อาทิ ขิง ไพล ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายขาว ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาผลผลิตนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรและยาแผนโบราณที่โรงพยาบาลห้วยทับทัน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลขุนหาญและโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติฯ ที่มีโรงงานแปรรูปอบแห้ง ทำลูกประคบและผลิตเวชสำอาง ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้จะดำเนินงานในพื้นที่นำร่องที่เชื่อมโยงตลาดรับซื้อสมุนไพรในพื้นที่อำเภอราษีไศลและอำเภอห้วยทับทัน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของบริษัทผู้รับซื้อ เมื่อเกษตรกรมีความรู้และผลิตได้คุณภาพมีตลาดรองรับ ย่อมสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่จะมีทั้งรายได้และอาชีพที่มั่นคงได้” ผู้ว่าฯ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าว
ดร.วิวรรธน์ กฤษฎาสิมะ Chief Supply Chain and Digitization Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โอสถสภาดำเนินธุรกิจคู่สังคมไทยมากว่า 131 ปี โดยยังคงรักษา สืบทอด และพัฒนาการใช้สมุนไพรอย่างต่อเนื่อง สมุนไพรที่มีคุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตสินค้าทั้ง 3 กลุ่มของโอสถสภา ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ซึ่งครอบคลุมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โอสถสภาจึงร่วมส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มายกระดับการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดหาสมุนไพรไทยที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
“ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นพลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต โอสถสภาจึงดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความยั่งยืน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและแบ่งปันโอกาสทางเศรษฐกิจ โอสถสภากำหนดให้การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคู่ค้ารายย่อย ซึ่งรวมถึงผู้จัดหาวัตถุดิบสมุนไพร และการใช้ส่วนผสมสมุนไพรที่มาจากการจัดหาอย่างยั่งยืน จากเป้าหมายดังกล่าว โอสถสภาได้ทำงานร่วมกับ สวทช. มหาวิทยาลัย และหน่วยงานด้านเกษตร ตลอดจนเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการผลิต การแปรรูป การพัฒนาต่อยอดสมุนไพร วัตถุดิบทางการเกษตรและทรัพยากรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เป็นแหล่งการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ มาตรฐานและมูลค่าสูงอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ดร.วิวรรธน์ กล่าว
อนึ่ง โครงการ “การยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม: ด้านพืชสมุนไพร” เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และบริษัท กุ้ยลิ้มฮึ้ง จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกร สร้างศักยภาพการผลิตพืช สมุนไพรให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปพืช สมุนไพรเพิ่มมูลค่าโดยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงตลาดรับซื้อสมุนไพร และเพิ่มช่องทางการตลาดในการรับซื้อสมุนไพร ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตพืช สมุนไพร และมีช่องทางการตลาดรับซื้อที่แน่นอน โดยมีพื้นที่ดำเนินงานในจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด มีพืชสมุนไพรนำร่อง ได้แก่ ขิง ไพลและฟ้าทะลายโจร
ข่าวเด่น