นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) นำร่องพื้นที่ของดีพร้อมให้ศิษย์เก่าสตารทอัพจำนวน 11 บริษัท ด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ร่วมโชว์นวัตกรรมลดใช้พลังงานในพื้นที่ต้นแบบ คือ อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) เพื่อให้เกิดเป็น ยูส เคส (Used case) คาดจะลดการปล่อยคาร์บอนได้ 20% ลดใช้พลังงานลง 10% พร้อมสร้างรายได้จากสินค้าและบริการที่ทดสอบกว่า 100 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้เดินหน้าโครงการ DIPROM Playground for decarbonization technology ภายใต้ กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ (Alumni Networking) โดยร่วมมือกับศิษย์เก่าเหล่าสตาร์ทอัพด้านลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) จำนวน 11 บริษัท ให้มีโอกาสสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการด้วยกัน และกับหน่วยงานภายใต้ดีพร้อม โดยนำเสนอโซลูชั่นและทำการทดสอบเทคโนโลยี/นวัตกรรมในสถานที่จริง เน้นด้านการประหยัดพลังงาน และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดเป็น ยูส เคส (Used case) โดยนำร่องที่อาคารของดีพร้อมเป็นพื้นที่ต้นแบบ
นายภาสกร กล่าวว่า หลังดำเนินกิจกรรมมากว่า 2 เดือน ได้ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพด้าน Decarbonization สร้างเครือข่ายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานภายใต้ ดีพร้อม เพื่อตอบโจทย์ในการลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้สตาร์ทอัพทั้ง 11 ทีม เข้าใจความต้องการและระบบการทำงานของอาคารขนาดใหญ่มากขึ้น โดยการทำงานภายใต้สนามทดสอบที่เป็นของจริงจะมีเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของอาคาร พนักงาน และอื่น ๆ ซึ่งสตาร์ทอัพทุกทีมสามารถแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและทำงานจริงร่วมกันหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การเปิดบ้านให้เป็นสถานที่นำร่องในการทดสอบในครั้งนี้ ถือเป็นอีกแนวทางในการช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพได้ทำงานจริงกับอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ รวมถึงเข้าใจถึงระบบการดำเนินงานกับภาครัฐ ซึ่งสตาร์ทอัพทุกทีมจะใช้โมเดลในการทดลองนี้ในการต่อยอดให้เป็นเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตต่อไป
"เมื่อดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ในระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี คาดว่า ดีพร้อม จะลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 20% ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกมาต่อปี และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 10% ต่อปี นอกจากนี้ สตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการยังจะต่อยอดสร้างรายได้จากสินค้าและบริการที่ได้นำมาทดสอบกว่า 100 ล้านบาทต่อปี" นายภาสกร กล่าว
สำหรับสตาร์ทอัพทั้ง 11 ทีมในโครงการ DIPROM Playground for Decarbonization Technology ภายใต้ กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ (Alumni Networking) ประกอบด้วย
กลุ่มบริหารจัดการพลังงาน
1. บริษัท โนวา กรีน เพาเวอร์ ซิสเต็ม จำกัด : โซลูชั่นการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Energy Solutions) วิเคราะห์ แก้ปัญหา ปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้า ลดอัตราสิ้นเปลือง ได้ทำรายงานนำเสนอแผนการปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าให้กับดีพร้อม เพื่อปรับปรุงการพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. บริษัท ทีไออี สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด : บริการทางด้านการบริหารจัดการพลังงาน วินิจฉัยปัญหาระบบปรับอากาศภายในอาคาร ให้เป็นระบบอัจฉริยะ ทดสอบติดตั้งชุดอุปกรณ์ภายในอาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) ช่วยบริหารจัดการพลังงาน ทำให้ ดีพร้อม ประหยัดพลังงานได้อย่างน้อย 10%
3. บริษัท แพลนเน็ตซี จำกัด : แพลตฟอร์มอัตโนมัติประเมินและบริหารจัดการการลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับองค์กร โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง ดีพร้อม มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 611 tonCO2e ในปี 2564 ภายหลังการให้ความรู้แก่บุคลากรดีพร้อม และเพิ่มเติมการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการลดและกำจัดคาร์บอน โดยหากดีพร้อมดำเนินการอย่างต่อเนื่องจะสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 20% ต่อปี
4. บริษัท โชเซ่น ดิจิตอล จำกัด : ระบบบริหารการเปลี่ยนผ่านพลังงานครั้งแรกอาเซียน การออกแบบระบบ EV Charger ที่เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งกำลังจะทำการทดสอบติดตั้งบริเวณลานจอดรถของ ดีพร้อม เพื่อให้บริการในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
5. บริษัท อินฟิไลท์ จำกัด : แพลตฟอร์มบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ เปลี่ยนที่ว่างสร้างรายได้ครบวงจรและระบบจองพื้นที่จอดอัตโนมัติ เชื่อมต่อกับ บริษัท โชเซ่น ดิจิตอล จำกัด ในการทดสอบการทำงานระบบจอง และล็อคพื้นที่จอดรถ EV Station กับ ดีพร้อม
กลุ่มบริหารจัดการขยะ ประกอบด้วย
1. โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ : ชุดอุปกรณ์เปลี่ยนถ่านรีโมทให้เป็นแบบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยถ่ายของ RENIWSI ใช้งานได้ถึง 3 ปีและนำไปชาร์จใหม่ได้ ทำให้ดีพร้อมลดค่าใช้จ่ายในการซื้อถ่านอัลคาไลน์ได้ถึง 33%/ปี หากประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ชุดอุปกรณ์ชนิดนี้ จะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 10,845 tonCO2e/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 723,057 ต้น/ปี
2. บริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง จำกัด : ที่ปรึกษาในการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมและจัดการขยะครบวงจรได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้กับบุคลากรของดีพร้อมสร้างระบบแยกขยะ นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ หากดำเนินการเต็มรูปแบบคาดว่าจะลดปริมาณขยะลงหลุมฝังกลบได้ถึง 40%
3. บริษัท สายฝน ไฮบริด จำกัด : แพล็ตฟอร์มสร้างแรงจูงใจในการแยกขยะจากต้นทางโดยใช้ โทเค็น (Token) ผ่านสมาร์ทโฟน token สามารถนำไปซื้อสินค้าต่างๆ ที่อยู่ในแพล็ตฟอร์มได้
4. บริษัท ยะลาฟูดส์ จำกัด : ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการขยะอินทรีย์ วางระบบกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลาย (BFSL) ให้องค์ความรู้ผ่านการจัดทำสื่อของดีพร้อม เพื่อให้บุคลากรตระหนักรู้และมีแนวทางในการจัดการขยะแบบปลอดภัย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมจากขยะในพื้นที่ฝังกลบ 0.38 tonCO2e/ปี
กลุ่มบริหารจัดการน้ำและอากาศ
1. บริษัท ไอโฟลว์เทค จำกัด : เทคโนโลยีปรับคุณภาพน้ำให้มีความปลอดภัย ไม่ใช่ไฟฟ้า ไม่ใช้เคมี โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่อาคารของดีพร้อม สามารถลดตะกรันในท่อกว่า 82% ลดการใช้น้ำกว่า 30% และช่วยประหยัดพลังงาน ยืดอายุการใช้งานของปั๊มน้ำซึ่งมีราคาสูงได้อีกด้วย
2. บริษัท กรีนไอโอ จำกัด : ตรวจวัดคุณภาพมวลอากาศ โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่ดีพร้อมเพื่อวัดคุณภาพอากาศ วัดค่าอุณหภูมิ, ความชื้น, คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) , สารระเหยรวม VOCs, PM 2.5 เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสภาพอากาศต่อไป
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6865-66 ต่อ 4 และติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th
ข่าวเด่น