ไอที
ดร.รอยล จิตรดอน คว้า "รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ" ประจำปี 2564 รางวัลเกียรติคุณสูงสุดสำหรับบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีองค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ พระราชทาน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ครั้งที่ 2 (ประจำปี 2564) ให้แก่ ดร.รอยล จิตรดอน บุคคลผู้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ อันมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน รางวัลพระราชทาน ประกอบด้วย เงินรางวัล 2,000,000 บาท เข็มเชิดชูเกียรติทองคำและโล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ


ดร.รอยล จิตรดอน เป็นผู้มีผลงานและเกียรติประวัติด้านการบริหารจัดการข้อมูลทรัพยากรน้ำในอันดับสูงสุดของประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน” โดยพัฒนาระบบ Weather 901 เพื่อส่งข้อมูลสภาพภูมิอากาศทั้งในและต่างประเทศ ด้วยระบบออนไลน์ แบบเรียลไทม์ ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และทิศทางลม เพื่อเตรียมการวางแผนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันพัฒนาจนเกิดเป็น “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยุคใหม่ของประเทศ ที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง ผนวกกับฐานข้อมูล ฐานความรู้ และฐานงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วิทยาการข้อมูล การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ทันสมัย ระบบนี้เปิดให้บริการแก่ทุกคนผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ Mobile Application ชื่อ ThaiWater ซึ่งไม่เพียงแต่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ จะนำไปใช้แล้ว ประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้าถึงข้อมูล ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
 

 
นอกจากนี้ ดร.รอยล ยังมีผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ระบบโทรมาตรเคลื่อนที่ ขนาดเล็ก, Data GRID และ Geographical Information Infrastructure เป็นต้น รวมถึงได้ดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชน ตามหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักสำคัญ คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งควบคู่กัน ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตชลประทานให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ และพัฒนาโครงสร้างขนาดเล็ก จัดการน้ำของชุมชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยยุทธศาสตร์ และมาตรการที่หลากหลายอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำมาบูรณาการการพัฒนาทั้งด้านน้ำ การเกษตร และพลังงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือการดำเนินงานร่วมกันระหว่างชุมชนและเครือข่ายท้องถิ่น ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดความสมดุล นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 
 
 
ด้วยหลักการเข้าใจชุมชน เข้าใจธรรมชาติ การมีแนวคิดในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบของ ดร.รอยล ผสานกับการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานการจัดการน้ำชุมชน ช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และเหลือใช้สำหรับพื้นที่เกษตร สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน จึงทำให้ชุมชน สามารถรอดพ้นจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน ดร.รอยล ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน) รวมถึงการเป็นกรรมการ อนุกรรมการ ในมูลนิธิและหน่วยงานเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอีกหลายหน่วยงาน
 
 
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ กล่าวว่า“มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อมูลนิธิฯ และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษร พระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ และพระราชทานชื่อรางวัลว่า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” นับเป็นมงคลอย่างยิ่ง
 
 
 
รางวัลนี้ ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งยังไม่เคยมีองค์กรใดในประเทศไทยจัดมาก่อน และ ดร.รอยล เป็นผู้ได้รับรางวัลเป็นคนที่สอง นับจากการเปิดตัวรางวัลนี้ในปีพ.ศ. 2563 ซึ่งผู้ได้รับเกียรติยศในปีนั้น คือ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ด้วยมูลนิธิเล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้จัดรางวัลนี้ขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการเดินหน้ามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างและมีส่วนผลักดันให้เกิดนักคิด นักพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศให้มีมากขึ้น อันจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รางวัลนี้จึงเป็นการประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง เชิดชูเกียรติบุคลากรคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน ที่ทุ่มเทแรงกายและความสามารถมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เสียสละ มีความเป็นเลิศด้านการคิดค้น พัฒนา ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการสร้างผลงาน สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม และวางรากฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านอย่างมีนัยสำคัญ ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะต่อผู้ด้อยโอกาส เยาวชน และผู้สูงอายุ

 
 
ทุกปี มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ ได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สมาคม สถาบันการศึกษา เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลมายังมูลนิธิฯ คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  7 ท่าน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน และคณะกรรมการมูลนิธิฯ 11 ท่าน ซึ่งมีผมเป็นประธาน ได้พิจารณากลั่นกรองอย่างเข้มข้น และมีมติให้ดร.รอยล จิตรดอน เป็นผู้สมควรได้รับ “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2564 ผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของ ดร.รอยล ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ อันมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม ครอบคลุมหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้มีอาชีพ มีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นบุคคลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง และเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ”
 

 
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าดูได้ที่ Website มูลนิธิ Ratanarajasuda Information Technology Award Foundation  www.rita.or.th
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ย. 2565 เวลา : 13:29:21
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 2:31 pm