ดร.พิเชฐ อิฐกอ เลขาธิการ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคอาหารมีส่วนสำคัญต่อสุขภาวะที่ดี โซเดียมเป็นวัตถุดิบที่มีบทบาทต่อ รสชาติ คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ในขณะที่การบริโภคโซเดียมมากเกินไปก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้หลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคไต การเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างองค์กรชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมนิสิตเก่าอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนการบริโภคโซเดียมอย่างเหมาะสมสำหรับคนไทย” ในงาน PROPAK Asia 2022 เพื่อให้ความรู้ในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับการบริโภคโซเดียมอย่างเหมาะสม
จากการสัมมนาทำให้ทราบว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การบริโภคโซเดียมของประชากรโลก ในแต่ละภูมิภาคมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,950 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งยังไม่เป็นไปตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ ในขณะที่สถานการณ์การบริโภคโซเดียมในประเทศไทยก็เช่นกัน จากรายงานการสำรวจและวิจัยปี พ.ศ. 2552 ของกรมอนามัย ซึ่งทำการสำรวจทั้ง 4 ภูมิภาค ยกเว้น กรุงเทพฯ พบว่า โซเดียมกว่า 80% มาจากเครื่องปรุงรส และ ประชากรไทยได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคมากถึง 4,361.99 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งมีงานวิจัยอีกการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจเกิดในช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 โดยมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของกลุ่มตัวอย่าง ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าปริมาณโซเดียมจากการบริโภคของประชากรไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งข้อมูลการสำรวจทั่วประเทศในปี 2557-2558 แหล่งที่มาของโซเดียมหลักๆ มาจาก น้ำผัด น้ำแกง น้ำยำ และน้ำจิ้ม (มีมากถึง 1/3 ของปริมาณโซเดียมที่บริโภคทั้งหมดต่อวัน)
สำหรับพฤติกรรมการปรุงอาหารของคนไทยเฉลี่ย 98% ของประชากร บริโภคเครื่องปรุงรสทุกวัน และเครื่องปรุงรสที่นิยมมากที่สุดคือ น้ำปลา คนไทยถึง 91.8% นิยมรับประทานรสเค็ม และ ร้อยละ 19.7% ของคนไทย มีพฤติกรรมการเติมน้ำปลาพริก หรือซีอิ๊ว มากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ.2559-2568 เพื่อตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลงให้ได้มากที่สุด ประกอบด้วย 5 ด้าน (SALTS) ดังนี้
S (Stakeholder Network) การสร้าง พัฒนา และขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ
A (Awareness) การเพิ่มความรู้ความตระหนัก และเสริมทักษะให้ประชาชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และผู้กำหนดนโยบาย
L (Legislation and Environmental Reform) การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงอาหารที่ปริมาณโซเดียมต่ำ
T (Technology and Innovation) การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ และการนำสู่การปฏิบัติ
S (Surveillance, Monitoring and Evaluation) การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินผล เน้นตลอดกระบวนการ ผลผลิต และผลลัพธ์ เป้าหมายซึ่งทิศทางการขับเคลื่อนเพื่อให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียม ควรต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่มีมาตรการใดมาตรการหนึ่ง แต่ต้องทำหลากหลายวิธีเพื่อให้เกิด ‘Sodium Consumption Literacy’ ในกลุ่มผู้บริโภคอาทิเช่น
• การให้ความรู้ในการเลือกใช้เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปกับผู้เตรียมและประกอบอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี (street food) ให้รู้จักเลือกใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับประเภทของอาหาร เนื่องจากผู้ประกอบ อาหารขาดการเชื่อมโยงข้อมูลการรับรู้รสชาติว่าเครื่องปรุงรสปริมาณเท่านี้มีโซเดียมปริมาณเท่าใด
• กระบวนการผลิตอาหารแปรรูปบางรายการ สามารถปรับลดปริมาณโซเดียมได้ โดยอาจส่งผลต่อรสชาติบ้าง ซึ่งผู้บริโภคควรต้องมีความตระหนักรู้ว่าการลดบริโภคโซเดียมเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
• ผู้บริโภคควรสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณโซเดียมในอาหารที่บริโภค ซึ่งก็เป็นไปได้ยากสำหรับ street food ในขณะที่อาหารแปรรูปสามารถดูได้บนฉลาก และผู้บริโภคควรตระหนักว่าว่าการบริโภคโซเดียมมากเกินไปส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ
• การให้ความรู้กับผู้บริโภคได้รู้จัก “โซเดียม” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าโซเดียมไม่ได้มีเฉพาะในเกลือ แต่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท
การลดการบริโภคโซเดียมนั้นเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มทุนในการลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นโดยปริมาณโซเดียมที่ได้รับต่อวันที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 1 ช้อนชา หรือ เทียบเท่ากับ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งทั้งหมดนี้ คือความพยายามนำเสนอมุมมองต่อเรื่องอาหาร การปรับพฤติกรรมการบริโภค เพื่อให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลงอยู่ในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 จะมีการจัดงานสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนการบริโภคโซเดียมอย่างเหมาะสมสำหรับคนไทย” ครั้งที่ 2 ขึ้นเพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนของการลดปริมาณ
โซเดียมในชีวิตประจำวัน ที่มีแหล่งที่มาหลักจากอาหารในแต่ละมื้อ รวมถึงเคล็ดลับในการปรุงอาหารให้คงความเอร็ดอร่อยแบบไม่ต้องเหนื่อยไต ซึ่งการเสวนานี้จะชี้ให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของอาหารไทย วัฒนธรรมการกิน วิวัฒนาการของอาหารไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ไปจนถึงการถอดรหัสการปรับลดโซเดียมจากนักกำหนดอาหารผู้ทรงคุณวุฒิ
ข่าวเด่น