บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ล่าสุดทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ TK ที่ระดับ BBB+ (Stable) เผยจากการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โควิด-19 ฯลฯ TK นำประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนและใช้ปรับกลยุทธ์การดำเนินกิจการและการบริหารฐานทุนให้แข็งแรง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 มีฐานทุนมากถึง 5,679 ล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุนที่ 0.2 เท่า มีเงินสดหรือเทียบเท่า 2,105 ล้านบาท เพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้อีกอย่างน้อย 12 – 18 เดือน โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม การขึ้นดอกเบี้ยไม่มีผลกระทบกับการกู้เงินในระยะกลาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน TK มีเงินสดและวงเงินพร้อมให้บริการสินเชื่อกับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 8,000 ล้านบาท
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ทริสเรทติ้งล่าสุดคงอันดับเครดิตองค์กรของ TK ที่ระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิตคงที่ หรือ “Stable” นับเป็นการสะท้อนสถานะฐานทุนในระดับแข็งแกร่งของบริษัทฯ ทั้งยังเป็นจุดแข็งที่สนับสนุนอันดับเครดิตจากการที่ TK มีฐานทุนที่แข็งแกร่งกว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกัน โดยมีผลประกอบการที่น่าพอใจ ในขณะที่ลูกหนี้เช่าซื้อภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การมีสภาพคล่องที่เข้มแข็ง และการมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัว ซึ่งล้วนมีผลต่อการจัดอันดับดังกล่าวทั้งสิ้น แต่ลูกหนี้เช่าซื้อในประเทศเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 และเติบโตต่อเนื่องมาติดต่อกัน 3 ไตรมาส จนถึงปัจจุบัน
“ผลการจัดอันดับของทริสเรตติ้งเป็นการยืนยันว่าการเดินหน้าธุรกิจให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการถือเงินสดเพียงพอ เพื่อพร้อมขยายพอร์ตสินเชื่อเมื่อมีโอกาสของ TK ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเรียกได้ว่าโควิด-19 เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย การดำเนินธุรกิจของ TK จนครบรอบ 50 ปี ในปี 2565 นี้ TK ผ่านวิกฤตการณ์มาหลายครั้ง สะสมประสบการณ์จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 มหาอุทกภัยในประเทศปี 2554 ฯลฯ ทำให้เราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการรับมือกับสิ่งที่เหนือการคาดการณ์ รวมทั้งรู้ที่จะปรับเปลี่ยน เพื่อประคองและรักษาระดับผลประกอบการให้เป็นไปตามเป้าหมาย” นางสาวปฐมา กล่าว
นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเสริมว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 บริษัทฯ เคยประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งจากกู้เงินจากต่างประเทศเป็นเงินดอลลาร์ที่ไม่ได้มีการประกันความเสี่ยง ทำให้หนี้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวทันทีเมื่อเงินบาทลอยตัว ด้านฐานทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การตั้งสำรองไม่สูง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีประสบการณ์ค่าเงินบาทลอยตัวและหนี้เสียจำนวนมากจากวิกฤตการณ์ทางด้านการเงินที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการตั้งสำรองน้อย เมื่อมีหนี้เสียจำนวนมาก บริษัทจะขาดทุนทันที ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งธนาคาร บริษัท และสถาบันทางการเงินต่างปิดตัวลงจำนวนมาก ส่งผลให้มีจำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้น สภาพคล่องในระบบไม่มี ส่งผลให้มีหนี้เสียจากทั้งองค์กรธุรกิจและจากส่วนบุคคลจำนวนมหาศาล รวมทั้งตลาดมอเตอร์ไซค์หดตัวเหลือเพียง 30%
ประสบการณ์จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้ TK ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจรอบด้านจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การไม่กู้เงินตราต่างประเทศให้กับกิจการในประเทศไทย ด้านการตั้งสำรอง TK มีการตั้งสำรองสูงมาโดยตลอดตั้งแต่จดทะเบียนบริษัทเป็นบริษัทมหาชนในปี 2546 รวมเป็นเวลา 19 ปี ทำให้สามารถนำพาบริษัทผ่านวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มาได้ด้วยผลประกอบการที่กำไรทุกไตรมาส โดยไม่ขาดทุดแม้แต่ไตรมาสเดียว
“นอกจากนี้ TK ได้สะสมเงินเพื่อเพิ่มฐานทุนให้สูง ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 นี้ มีฐานทุนสูงถึง 5,679 ล้านบาท โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 0.2 เท่า ซึ่งในไตรมาส 3 ปีนี้ TK กำหนดจ่ายหุ้นกู้คืนในประเทศไทยจำนวน 400 ล้านบาท และจะทำให้กิจการในประเทศไทยของ TK ปลอดหนี้ ในด้านเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 เรามีเงินสดหรือเทียบเท่าถึง 2,105 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้อีกอย่างน้อย 12 – 18 เดือน โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่มเลย ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยจะยังไม่มีผลกระทบกับ TK ในระยะกลาง ทั้งด้านการกู้เงิน เพราะไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม และด้านค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในประเทศ เนื่องจากปลอดหนี้จึงไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย” นายประพล อธิบาย
อนึ่ง TK มีเงินรวมกว่า 8,000 ล้านบาท จากฐานทุนและเงินสดหรือเทียบเท่าและวงเงินที่พร้อมปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้มีรวมถึง 5,500 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินในประเทศ 3,800 ล้านบาท และสำหรับในต่างประเทศอีก 1,700 ล้านบาท
ข่าวเด่น