แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK ฉลองความสำเร็จออก Green Bond วางเป้าอนาคตโต 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2570


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงข่าวร่วมกับนายโกสินทร์ พึงโสภณ ผู้เชี่ยวชาญภาคการเงิน ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาค ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และนางสาวปภากร รัตนเศรษฐ รองผู้อำนวยการ กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน ธนาคารออมสิน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ว่า EXIM BANK ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเสนอขายพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) 2 รุ่น มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โครงการพลังงานสะอาด โดยมี ADB เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) ธนาคารออมสินเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตร และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจำหน่ายพันธบัตร และนายทะเบียน พันธบัตรทั้ง 2 รุ่นของ EXIM BANK ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนชั้นนำและสามารถระดมทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดีในช่วงที่ตลาดเงินมีความผันผวนและดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเป็นขาขึ้น


พันธบัตรแบ่งเป็น “พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568” (พันธบัตรชุดที่ 1) อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.25% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ตลอดอายุพันธบัตร จำนวน 3 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท และ “พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2569” (พันธบัตรชุดที่ 2) อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัว Compounded THOR +0.34% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ตลอดอายุพันธบัตร จำนวน 2 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท

 
EXIM BANK นับเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่จัดตั้งกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน และออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR (Thai Overnight Repurchase) เป็นรายแรกของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย EXIM BANK มีแผนจะระดมทุนภายใต้กรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) เชื่อมโยงการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งสัตยาบันที่รัฐบาลไทยร่วมให้ไว้ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ภายในปี 2608

 
ที่ผ่านมา EXIM BANK ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ไปแล้วประมาณ 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท และในอนาคต EXIM BANK ตั้งเป้าหมายจะขยายสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจ BCG เป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 2570 เพื่อร่วมกับประชาคมโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ และจะสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 50% โดย EXIM BANK จะทำงานอย่างใกล้ชิดและแข็งขันร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบ Zero Waste นำกากของเสียจากโรงงานกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต หมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้าง Supply Chain ของไทยเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกที่สะอาดและนำไปสู่การพัฒนาของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน

 
ทั้งนี้ ดร.รักษ์ ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันในตลาดของประเทศไทย สัดส่วนพันธบัตรประเภท Green bond นั้นมีอยู่เพียง 2%  ซึ่งถือเป็นตลาดที่ Economy of Scale ยังไม่เกิด ผนวกกับปี 2565 นี้เป็นปีที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกด้วย แต่การออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวกลับได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเกินความคาดหมาย จากนักลงทุนชั้นนำ อาทิ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) และ กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต โดยโตกว่า 2.2 เท่า จากเป้า 5,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเริ่มจะได้รับความสำคัญมากขึ้น และการออกพันธบัตรครั้งต่อไปก็คาดว่าจะประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน โดยมีแนวโน้มที่จะออก Green Bond ชุดต่อไปโดยมีอายุยาวขึ้น หรือ 5 ปี  และจะมีการผนึกกำลังพันธมิตรอย่างธนาคารของรัฐเพิ่มมากขึ้นเพื่อเดินหน้าโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ จากที่มุ่งส่งเสริมภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนให้ทำงานสอดรับกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องของ ESG แล้ว ก็ยังตั้งเป้าที่จะออกสินเชื่อกับภาค SME ส่งเสริมให้รายเล็กประกอบธุรกิจสีเขียวในอนาคตเป็นแผนต่อไปอีกด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2565 เวลา : 14:15:40
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 2:53 pm