แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK ขานรับกระทรวงการคลัง สนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจ-ลงทุน ในเวียดนาม รับยุค Next Normal


 
22 กันยายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “Vietnam in Focus 2022: The Dream Journey” ณ โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ พร้อมด้วยนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้การต้อนรับ 

 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในโลกยุค Next Normal หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย โอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจเริ่มกลับมาพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดใหม่อย่างเวียดนามที่มาแรงด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูงเกือบ 7% ต่อปี โดยเวียดนามเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทยรองจากสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 10 การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีพัฒนาการดีอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2535 เป็นราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน หรือขยายตัวเกือบ 20% ต่อปี นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งไทยซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ในเวียดนาม ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งขยายความร่วมมือกับเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายระหว่างประเทศหรือลงทุนร่วมกัน

นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในมิติการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งในมิติการเงินการคลัง ผ่านการสนับสนุนของ EXIM BANK ที่มุ่งเน้นการทำหน้าที่ในเชิงรุกสู่บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ เครื่องมือทางการเงิน และเครือข่ายพันธมิตรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดการค้าโลก ก้าวข้ามอุปสรรค ความท้าทาย และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ พร้อมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคต เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy) ของไทย เชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคในกรอบความร่วมมือภายใต้อาเซียนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

 
ด้านกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ปัจจุบันหัวใจสำคัญของการแข่งขันในตลาดโลกยุค Next Normal ได้แก่ ความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย EXIM BANK จึงพร้อมทำหน้าที่มากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ตั้งแต่ Start-up ไปจนถึงผู้ประกอบการทั่วไปสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนและปัจจัยท้าทายทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK มีเครื่องมือทางการเงินครบวงจร ควบคู่กับข้อมูลความรู้และเครือข่ายพันธมิตรที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างมั่นใจ ทั้งในตลาดใหม่และตลาดเดิม โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเดิมเคยอยู่ในฐานะ “คู่แข่ง” ปัจจุบันได้พลิกโฉมเป็น “คู่ค้าสำคัญ” ที่ไทยพึ่งพาและพึ่งพิงมากขึ้น โดยเวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทยมาตั้งแต่ปี 2560 ไต่ระดับขึ้นมาจากอันดับ 15 ในปี 2555 ขณะที่เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนสำคัญอันดับ 4 ของไทยในปัจจุบัน ไต่อันดับจากอันดับ 10 เมื่อ 10 ปีก่อน

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK พร้อมเสริมอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มพูนความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างรอบด้าน ประกอบด้วยเครื่องมือปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) หรือการซื้อประกันค่าเงิน (Foreign Exchange Option) เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า รัฐบาลประเทศผู้ซื้อควบคุมการโอนเงิน ห้ามนำเข้าสินค้า เกิดสงคราม หรือจลาจล EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งติดตามหนี้ให้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยหมดกังวลกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น พร้อมทุ่มเทเวลาและทรัพยากรไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการให้สามารถเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตของเวียดนามได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของเวียดนาม อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานสะอาด และอาหารแห่งอนาคต

 
ที่ผ่านมา EXIM BANK มุ่งเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปอยู่ใน Supply Chain ธุรกิจ BCG ของเวียดนาม เนื่องจากศักยภาพของผู้ประกอบการไทยสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของเวียดนามมีอัตราสูงตามการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและการเติบโตของสังคมเมือง ปัจจุบันโครงการลงทุนในเวียดนามภายใต้การสนับสนุนของ EXIM BANK คิดเป็นมูลค่ากว่า 17,300 ล้านบาทในหลากหลายธุรกิจ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ปิโตรเคมี ห้างค้าส่งและค้าปลีก นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมีผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม ก้าวทันกระแสเศรษฐกิจสีเขียวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น สินเชื่อ EXIM Kill Bill by Biz Transformation วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2.00% ต่อปี ผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี และสินเชื่อ Solar Orchestra สำหรับธุรกิจทุกขนาดที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) วงเงินกู้สูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการลงทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ต่อปี ผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี ผู้กู้จะได้รับสิทธิการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตแบบครบวงจรและสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 50% ของเงินลงทุนเป็นระยะเวลา 3 ปีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 67,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,271 ล้านบาท หรือ 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจไทยสยายปีกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และตลาดใหม่ (New Frontiers) อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง CLMV และ New Frontiers จำนวน 53,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,804 ล้านบาทหรือ 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นสินเชื่อคงค้างในเวียดนาม 14,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.4%

 
“โอกาสของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่อีกมากในตลาดใหม่ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นพันธมิตรกับนานาประเทศทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งมี FTA มากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติมเต็ม Supply Chain ของเวียดนามและของโลก EXIM BANK จึงพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกอย่างมั่นใจ โดยอาจเริ่มต้นจากเวียดนาม และรุกคืบไปยังตลาดการค้าอื่นต่อไป ช่วยต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคและโลกโดยรวม” ดร.รักษ์ กล่าว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2565 เวลา : 19:12:49
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 2:52 pm