นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 41/2565 (ครั้งที่ 808) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ทั้งนี้เป็นไปมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษาฯ และมีผลบังคับใช้ต่อไป
นอกจากนี้ นายคมกฤช ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ระเบียบดังกล่าวจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงตามมติ กพช.ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย ไม่เกิน 90 เมกกะวัตต์ และโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบ กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm ที่ปริมาณเสนอขายมากกว่า 10 เมกกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกกะวัตต์ตามเงื่อนไขการสั่งจ่ายไฟฟ้าตามที่ระบุในมติ กพช. ซึ่งภายหลังจากระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว กกพ. จะออกประกาศรับซื้อโดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการและรายการเอกสารแสดงความพร้อมประกอบการเสนอขายไฟฟ้าในแต่ละประเภทพลังงานหมุนเวียนเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯต่อไป กำหนดการเบื้องต้นของโครงการดังกล่าวมีดังนี้
1. ตรวจสอบจุดเชื่อมโยง ต.ค. 2565
2. ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า พ.ย. - ธ.ค. 2565
3. ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ ม.ค. 2566
4. ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก พ.ค. – มิ.ย. 2566
5. กำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ปี 2567 – 2573
“กกพ.ยังต่อยอดโดยนำพลังงานไฟฟ้าสีเขียวที่จะผลิตได้จากโครงการดังกล่าวมารวมขายในอัตราไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) ให้กับภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพื่อประโยชน์ในการส่งออกสินค้าที่ต้องพิสูจน์ Carbon Tracking จากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้า โดย Green Tariff จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถมีพลังงานสีเขียวไว้ใช้ได้อย่าง
ต่อเนื่อง มั่นคง เพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และยังลดความยุ่งยากที่จะต้องผลิตพลังงานสีเขียวไว้ใช้เองอีกด้วย” นายคมกฤช กล่าว
ข่าวเด่น