ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.ชัยนาท ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเวทีชี้แจงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่นำไปแก้ไขปัญหา
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 (สทนช. ภาค 2) เข้าร่วมการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.ชัยนาท ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก โดยมีนายปรีชา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานการประชุม โดยมีนายรัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอผักไห่ เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมชลประทาน พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองผักไห่ ชั้น 2 อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเขื่อนเจ้าพระยาได้มีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมวลน้ำสูงสุดได้ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และเขื่อนเจ้าพระยา แล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลดลง อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันนี้ - 5 ต.ค. 65 จะมีฝนตกบริเวณตอนบนฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนเจ้าพระยาจึงต้องรับปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำสำหรับฝนที่จะตกในลุ่มน้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.ชัยนาท จึงได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 65 เพื่อหารือแนวทางในการบริหารจัดการน้ำรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยสำหรับพื้นที่ 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา ที่จะใช้สำหรับรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ปัจจุบันเหลือพื้นที่รอเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 30,000 ไร่ โดยทุ่งผักไห่ เหลือพื้นที่เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 2,000 ไร่ ในขณะที่ทุ่งป่าโมกเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ปัจจุบันได้มีการรับน้ำเข้าทุ่งในเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาตัดยอดน้ำจากปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และรับน้ำส่วนเกินเข้ามาในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อให้เกิดการจัดการมวลน้ำหลากอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด โดยสำหรับทุ่งผักไห่ ปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งแล้วที่ระดับ 15 ซม. และจะทยอยรับน้ำจนเต็มห้วงเวลา จนอยู่ในเกณฑ์ความสูงเฉลี่ย 1 ม. ก่อนบูรณาการส่งต่อน้ำไปทางตอนล่าง ในขณะที่ทุ่งป่าโมก จะรับน้ำในเกณฑ์สูงสุด 1.5 ม. โดยศูนย์ฯส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.ชัยนาท จะทำหน้าที่ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และร่วมบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งแจ้งไปยังจังหวัดให้รับทราบช่วงเวลาในการรับน้ำเข้าทุ่ง โดยจังหวัดจะเป็นผู้ประกาศให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าก่อน 3 วัน โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้ร่วมให้ข้อมูล ทั้งนี้ จะมีการติดตามผลกระทบภายหลังการรับน้ำเข้าทุ่งเพื่อบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยผลของการประชุมในวันนี้ ประชาชนในพื้นที่ทั้งในคันกั้นน้ำและนอกคันกั้นน้ำ มีมติเห็นด้วยที่จะรับน้ำตามมาตรการที่กำหนด” นายไพฑูรย์ กล่าว

นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า นอกจากการชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำแล้ว ในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการดำรงชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ การให้ความช่วยเหลือและการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ปัญหาในพื้นที่จริง และข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวมถึงซักถามประเด็นข้อสงสัย โดยศูนย์ฯน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง จ.ชัยนาท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมชี้แจงตอบคำถาม โดยถือเป็นกระบวนการสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ จะมีการรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปพิจารณา เพื่อบูรณาการร่วมกันดำเนินงานแก้ไขปัญหา ตามข้อห่วงใยของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ซึ่งได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการมวลน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด
ข่าวเด่น