
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุ “โนรู” ทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้พื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี ชัยนาท สระแก้ว มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 23 แห่ง เปิดให้บริการตามปกติ 19 แห่ง และมีรพ.สต. 3 แห่ง และ รพ. 1 แห่ง ที่เปิดให้บริการได้บางส่วน เบื้องต้นได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 135 ทีม ดูแลประชาชนและผู้ประสบภัยแล้ว 9,559 ราย ประกอบด้วย เยี่ยมบ้าน 748 ราย แจกยาชุดน้ำท่วม 2,616 ราย ตรวจรักษา 4,579 ราย ให้สุขศึกษา 1,614 ราย ประเมินสุขภาพจิต 306 ราย และส่งต่อรักษา 2 ราย โดยอาการป่วยที่พบมากสุด คือ น้ำกัดเท้า 2,468 ราย โรคทางเดินหายใจ 456 ราย กล้ามเนื้อและกระดูกจากการยกของหนัก 403 ราย และโรคผิวหนัง แพ้ ผื่นคัน 361 ราย เป็นต้น ส่วนการประเมินสุขภาพจิตพบมีภาวะเครียด 4 ราย ได้ให้การดูแลแล้ว

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคที่มักพบบ่อยช่วงน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ตาแดง โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า เป็นต้น ขอแนะนำให้ประชาชนดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ กินร้อน ล้างมือบ่อยๆ ควรสวมรองเท้าบู๊ท ล้างทำความสะอาดมือเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังลุยน้ำ หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดและทายาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน หากน้ำหรือสิ่งสกปรกเข้าตาให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม และสัตว์มีพิษกัดต่อย เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุในพื้นที่ ให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดยา และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลประชาชนที่ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ข่าวเด่น