นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปัจจุบันของ ธอส.ยังคงมีความแข็งแรง โดยคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2565 ได้ถึง 300,000 ล้านบาท ขณะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ถึง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2564 ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท คิดเป็น 4.41% ของสินเชื่อรวม 1.6 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องบริหารจัดการให้ธนาคารมีกำไรตามเป้าหมายตัวชี้วัด 13,400 ล้านบาท เพื่อนำ 45% ของกำไรส่งเป็นรายได้ให้กับกระทรวงการคลังนำไปใช้จ่ายเป็นงบประมาณแผ่นดินต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้กำลังซื้อของประชาชนจะเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่ากับการปรับขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการลงทุนก่อสร้าง และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ฉะนั้น ธอส. จึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ธนาคารสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและสามารถรับมือกับปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ทางคณะกรรมการธนาคาร จึงได้มีมติเห็นชอบให้ธอส. ลงทุนพัฒนาทางด้านระบบเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ด้วยงบประมาณลงทุนรวมไม่เกิน 400 ล้านบาท โดยใช้ชื่อว่า “end to end process” หรือการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายผ่านบริการด้านดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารได้ไปพร้อมกัน โดยมี 3 module หลัก ประกอบด้วย ด้าน Funding ด้านสินเชื่อ และ ด้านการบริหารจัดการทรัพย์ด้อยคุณภาพ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Fingers Strategy ให้ประชาชนรู้จัก ธอส. เข้าถึง ใช้จริง บอกต่อ และเกิด Loyalty กับธนาคาร
1.Module ด้าน Funding ปัจจุบัน ธอส. มีการระดมทุนผ่านหลายช่องทาง ทั้งเงินฝากแบบปกติที่มีสมุดบัญชี เงินฝากแบบอิเล็กทรอนิกส์ สลากออมทรัพย์ พันธบัตร อนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการจัดทำสลากออมทรัพย์ ธอส. ที่มีความแตกต่างจากสลากของสถาบันการเงินอื่นในตลาด โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะมีการออกสลากออมทรัพย์ชุดใหม่ คือ ชุดวิมานเมฆ PLUS มารองรับการครบกำหนดไถ่ถอนของสลากออมทรัพย์ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท กรอบวงเงินรวม 27,000 ล้านบาท รวมถึงสลากชุดใหม่ประเภทอื่นที่รองรับลูกค้าใหม่ควบคู่กันกับลูกค้าเดิม
2.Module ด้านสินเชื่อ ลูกค้าสามารถรู้จักและเข้าถึง ธอส.ได้ด้วยแอพ “GHB ALL GEN” ถือเป็นแอพใหม่ที่ธนาคารได้พัฒนาขึ้นมาด้วยงบลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้งานแทนแอพ GHB ALL เดิม ที่ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการอยู่มากกว่า 1 ล้านคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้นและรองรับลูกค้าของ ธอส.ได้ทุก Generation ปัจจุบันการพัฒนาบริการเฟสที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้วและเริ่มเปิดให้พนักงานของธนาคารดาวน์โหลดเพื่อทดสอบใช้งานตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 ก่อนที่จะเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดใช้งานเฟสที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 และเมื่อ GHB ALL GEN พัฒนาได้สมบูรณ์ทุกบริการแล้ว จะทำให้ลูกค้าเข้าถึง ธอส. ได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยสามารถปรึกษากับพนักงานสินเชื่อ Digital LO(Loan Officer) ได้เสมือนเดินทางไปที่สาขา โดยธนาคารจะถ่ายโอนลูกค้าให้ย้ายไปใช้แอพ GHB ALL GEN ให้ได้ทั้งหมดจนถึงวันที่ 31 มีนาคม2566 ซึ่งในขณะนั้นบริการต่าง ๆ ใน GHB ALL GEN จะให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ
โดยการนำ Data Analytic ทางด้านการประเมินราคาที่อยู่อาศัยมาพัฒนาระบบ Digital Appraisal ทำให้ลูกค้าทราบราคาประเมินบ้านเบื้องต้นได้ทันทีในขณะยื่นกู้กับเจ้าหน้าที่โดยราคาจะเบี่ยงเบนจากราคาหลังเจ้าหน้าที่เข้าประเมินจริงไม่เกิน 8% จากเดิมต้องรอให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจที่อยู่อาศัยจริงซึ่งจะทำให้ผู้กู้ทราบราคาประเมินอย่างเป็นทางการได้ในระยะเวลา 3-7 วันหลังยื่นเอกสารคำขอกู้
เมื่อเรื่องเข้าสู้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ธนาคารจะมีการแจ้งเตือนผลการพิจารณาผ่าน Notification ของ GHB BUDDY บน Line Application โดยกระบวนการแบบดิจิทัลข้างต้น กรณีที่ลูกค้ามีเอกสารประกอบการยื่นกู้ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ครบถ้วน ไม่มีประวัติการผ่อนชำระสินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ปกติ เป็นต้น คาดว่าลูกค้าจะสามารถทราบผลการพิจารณาได้โดยใช้เวลาเพียง 3 วันทำการ และลูกค้ายังสามารถเซ็นสัญญาเงินกู้แบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการลงนามรูปแบบกระดาษได้ด้วย e-Contract ซึ่งธนาคารจะโอนเงินกู้ค่าซื้อที่อยู่อาศัยเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ Developer แทนการจัดทำแคชเชียร์เช็ค ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสียเวลาและลดขั้นตอนนำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากผู้ซื้อไปขึ้นเงินเหมือนที่ผ่านมา และหลังจากลูกค้าทำนิติกรรมการโอนและจดจำนองที่กรมที่ดินเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าสามารถรับโฉนดที่ดินฉบับจริงกลับบ้านได้ทันที ด้วยโครงการจัดเก็บ Electronic File แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ(ไม่เก็บโฉนด) โดยธนาคารจะจัดเก็บโฉนดในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดเก็บเอกสารฉบับจริง ทำให้ลูกค้าจะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับบ้านในวันทำนิติกรรมได้ทันที และเมื่อได้เป็นลูกค้าของ ธอส. แล้วก็จะสามารถผ่อนชำระเงินกู้ผ่าน GHB ALL GEN ได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา
3.Module ด้านการบริหารจัดการทรัพย์ด้อยคุณภาพ ปัจจุบันธนาคารได้พัฒนาแอพ GHB ALL BFRIEND เพื่อให้บริการลูกค้าที่ประสบปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านให้ได้รับทางเลือกและเงื่อนไขการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับปัญหาให้บริการทั้งในด้านการตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินกู้ อาทิ เงินงวดที่ต้องผ่อนชำระตามเงื่อนไขของมาตรการ การยื่นคำร้องประนอมหนี้ และยื่นคำร้องฝากขายทรัพย์ โดยเริ่มเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565 และยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพ GHB ALL HOME ให้มีครบทุกความต้องการ เรื่องบ้านมือสอง ธอส. ที่พัฒนาต่อยอดจากแอพ GHBank Smart NPA สามารถให้บริการได้หลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ ค้นหารายการทรัพย์ และแสดงรายละเอียดข้อมูลบ้านมือสองของธนาคาร รวมถึงการยื่นคำร้องขอดูสภาพของที่อยู่อาศัยในสถานที่จริง การจองซื้อบ้าน การประมูลออนไลน์ พร้อมเพิ่มบริการชำระเงินมัดจำ เงินดาวน์รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการซื้อทรัพย์ของธนาคาร อีกทั้งลูกค้าสามารถยื่นคำร้องต่าง ๆ ผ่านแอปนี้ได้อีกด้วย และมีกำหนดเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2565
นอกจากนี้ ธอส. ยังได้เริ่มจัดทำโครงการ Renovate บ้านมือสองของ ธอส. ก่อนนำออกจำหน่าย ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของธนาคาร เนื่องจากการนำบ้านเก่ามารีโนเวทกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะบ้านมือสองมีราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่และอยู่ในทำเลที่ตั้งเหมาะสม ธอส.จึงคัดเลือกทรัพย์ทำเลดีที่ตั้งเหมาะสมนำไปรีโนเวททรัพย์ใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน ธอส.ได้แบ่งทรัพย์ออกเป็น 7 เกรด โดยในปี 2565 จะเริ่มดำเนินการ Renovate จำนวนรวม 10 หลัง เริ่มนำออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวนทรัพย์ 3 รายการ ประกอบด้วย ทาวน์เฮ้าส์ 2 หลัง และที่ดินเปล่า 1 แปลง ซึ่งการขายบ้านมือสองของธนาคารไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรจากการขายเป็นหลักแต่ต้องการลดจำนวนการถือครองบ้านมือสองของธนาคารเพื่อลดการกันสำรองของธนาคารให้ลดลง
ทั้งนี้ นายฉัตรชัยกล่าวเสริมอีกว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในไทยยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว แม้ว่าในปี 2565 ธอส. จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงถึง 300,000 ล้านบาทแล้ว เพราะสังคมไทยเป็นสังคมของการแตกตัวออกจากครอบครัวไปมีที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งเพื่อการอยู่อาศัยและการลงทุน ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปี 2566 จะยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 5% จากเป้าหมายในปี 2565 ที่ 226,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 240,000 ล้านบาทในปี 2566 หรือปล่อยได้ไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าของ ธอส.ส่วนใหญ่จะซื้อบ้านราคาบวกลบประมาณ 2 ล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น local developer ขนาดเล็กวงเงินกู้ประมาณ 200-300 ล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางราคาขายที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท
“ส่วนการผ่อนชำระของลูกค้าที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ปัจจุบันยังมีลูกค้าอยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารวงเงินกู้รวมประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 20,000 ล้านบาทที่อาจเริ่มผ่อนชำระไม่ปกติ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ถือเป็นกลุ่มที่ยังมีความตั้งใจผ่อนชำระแม้จะได้รับผลกกระทบ และธนาคารจะยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้มารองรับโดยสามารถเลือกผ่อนชำระ 25% 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ”กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าว
นายฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้ายว่าในโอกาสครบรอบ 69 ปี ธอส. ยังได้เปิดตัว “พี่โฮม” ในฐานะ Virtual Influencer คนแรกของ ธอส.ชายหนุ่มอารมณ์ดี อบอุ่น ยิ้มง่าย ชอบศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องที่อยู่อาศัย การลงทุนและการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน พร้อมที่จะให้คำปรึกษา และมอบความช่วยเหลือให้กับทุกคนที่อยากมีบ้านด้วยความเต็มใจ เพราะเค้ารู้ดีว่าการมีบ้านคือความสุขของคนทุกคน โดยสามารถติดตาม“พี่โฮม” ได้ที่ช่องทางออนไลน์ของธนาคาร
สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th
ข่าวเด่น