เชื่อว่าในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนหลายๆ ท่านคงจะได้ยินคำว่า “การเพิ่มทุน” อยู่บ่อยครั้ง นักลงทุนหลายท่านอาจจะรู้จักอยู่แล้ว แต่เชื่อว่ายังมีนักลงทุนที่ยังไม่ทราบ หรือยังไม่ค่อยเข้าใจดีนัก ว่าการเพิ่มทุนคืออะไร? เราควรซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยหรือไม่ และการเพิ่มทุนจะกระทบกับนักลงทุนอย่างไร? วันนี้เรามาดู 10 เรื่องต้องรู้เมื่อลงทุน “หุ้นเพิ่มทุน” กันครับ
1.การเพิ่มทุน คืออะไร
การเพิ่มทุน (Capital Increase) คือ การที่บริษัทระดมทุนอีกครั้งจากผู้ถือหุ้น ด้วยการออกหุ้นใหม่เพิ่มเติมจากหุ้นเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า “หุ้นเพิ่มทุน” และนำมาจำหน่ายสู่ตลาดให้แก่ผู้ที่สนใจ เช่น ผู้ถือหุ้นเดิม ผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ผู้ลงทุนทั่วไป โดยสิทธิประโยชน์ของหุ้นเพิ่มทุนจะเหมือนกับหุ้นเดิมทุกประการ
2.ทำไมบริษัทต้องเพิ่มทุน
ในทางธุรกิจแล้วการที่บริษัทต้องการเงินเพิ่มเพื่อมาดำเนินธุรกิจนั้นมีทางเลือกได้หลากหลายวิธี เช่น กู้เงินจากธนาคาร ออกหุ้นกู้ วอแรนท์ หรือ การเพิ่มทุน ซึ่งการจัดหาเงินแบบกู้จากธนาคาร และออกหุ้นกูนั่น บริษัทต้องเสียดอกเบี้ย ในทางกลับกัน การเพิ่มทุน ไม่เสียดอกเบี้ย สาเหตุที่บริษัทต้องการใช้เงินนั่นก็มีแตกต่างกันไป เช่น นำไปขยายกิจการ นำไปชำระหนี้ หรือแม้แต่นำไปล้างขาดทุนสะสม
3.การเพิ่มทุนมีกี่แบบ
หุ้นเพิ่มทุนนั้น อาจเสนอขายให้แก่ทั้งผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ถือหุ้นใหม่ โดยมี 4 แบบดังนี้
1. การเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering : RO) หมายถึงการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกราย ตามสัดส่วนการถือครองหุ้น
2. การเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) หมายถึง การขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด ไม่เกิน 50 ราย หรือมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในรอบ 12 เดือน หรือเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน
3. การเสนอขายให้แก่ประชาชน (Public Offering : PO) หมายถึง การขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป โดยจะทำกันในบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป จะไม่สามารถระดมทุนจากสาธารณะได้
4. การเสนอขายแบบ (Preferential Offering : PPO) หมายถึง การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในลักษณะเป็นการทั่วไป โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะซื้อหุ้นต้องเป็นผู้ถือหุ้น ของบริษัทและจำนวนการจองซื้อไม่เกินกว่าสัดส่วนการถือหุ้น โดยเป็นการเสนอขายตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ให้เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะไม่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ
4.รู้จัก Dilution Effect
Dilution effect หมายถึง ผลกระทบที่ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นหรือมีความเป็นเจ้าของในบริษัทน้อยลง รวมถึงส่วนแบ่งกำไร และเงินปันผลที่จะได้รับก็จะได้ลดลง ตามสัดส่วนที่ได้มีการออกหุ้นเพิ่มทุน
5.ผลกระทบต่อกำไรต่อหุ้น
เมื่อมีการเพิ่มทุน ก็จะทำให้มีจำนวนหุ้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่มีหุ้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลงและผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ก็จะลดลงด้วย ยกตัวอย่างเช่น เค้กหนึ่งก้อนเท่าเดิม แต่มีคนมากินเพิ่มขึ้น ทำให้เรากินเค้กได้น้อยลงนั่นเอง
6.ผลกระทบต่อราคาหุ้น
แน่นอนว่าราคาหุ้นขึ้นอยู่กับผลกำไรของกิจการ การที่กำไรต่อหุ้นลดลง เนื่องจากหุ้นมีจำนวนเยอะขึ้น ย่อมทำให้ราคาหุ้นลดลง
7.ประมาณราคาหลังเพิ่มทุนยังไง ?
เราสามารถประมาณราคาหลังเพิ่มทุนโดยใช้สูตรการคำนวณราคา Dilution หลังการเพิ่มทุนดังนี้
ยกตัวอย่างเช่น
หุ้น XYZ ประกาศเพิ่มทุนในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ โดยให้สิทธิซื้อหุ้นในราคา 1 บาทต่อหุ้น และจะขึ้นเครื่องหมาย XR ในวันที่ 20/09/2565
ราคาปิดวันที่ 19/09/2565 อยู่ที่ 4.00 บาทต่อหุ้น (ก่อนขึ้นเครื่องหมาย XR)
พอวันที่ 20/09/2565 ราคาปิดลดลงมา 25% เหลือเพียง 3.00 บาทต่อหุ้น
ซึ่งถ้าเราลองประมาณการจากสูตร จะได้ค่าดังนี้
ราคาหุ้นหลังเพิ่มทุน = {(2 x 4.00) + (1 x 1)}/ (2 + 1) = 3.00 บาท
จะเห็นว่าราคาที่ออกมาจะเทียบเท่า หรือใกล้เคียงกันเลย
8.ถ้าเราไม่เพิ่มทุนหุ้นที่ถือ จะเกิดอะไรขึ้น
หากเราเลือกที่จะไม่เพิ่มทุน เมื่อหุ้นมีการเพิ่มทุนไปแล้ว พอร์ตการลงทุนของเราจะได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ลดลงตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “Dilution Effect” นั่นเอง
9.อยากได้หุ้นเพิ่มทุน ต้องซื้อวันไหน
การซื้อหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน หากอยากได้หุ้นเพิ่มทุน ต้องซื้อหุ้น ก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XR
10. เพิ่มทุนครั้งนี้ดีหรือร้าย ดูยังไง
โดยปกติแล้ว เมื่อบริษัทมีการประกาศเพิ่มทุน มุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นเชิงลบ และมักจะขายหุ้นออกไปก่อน แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มทุนก็ไม่ใช่เรื่องร้ายเสมอไป หากเราเชื่อว่าเงินเพิ่มทุนที่ได้มานั้น บริษัทจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต ดังนั้นเมื่อเรารับรู้ว่าบริษัทนั้นจะมีการเพิ่มทุน เราก็ควรที่จะศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนก่อนว่า บริษัทนั้นจะนำเงินไปทำอะไรบ้าง และสิ่งที่จะทำนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้หรือไม่นั่นเอง
สรุปจากรูปเราจะเห็นว่าสิ่งสำคัญคือเมื่อเรามีหุ้นเพิ่มทุน เราต้องพิจารณาบริษัท รวมถึงงบการเงิน ว่าเมื่อมีการเพิ่มทุนแล้ว บริษัทมีแนวโน้มที่ดีหรือไม่ จะสามารถสร้างผลกำไรที่ดีได้ในอนาคตหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้เลือกลงมือจัดการกับหุ้นที่เรามีได้อย่างถูกวิธี ว่าเราจะเลือกที่จะชำระหุ้นเพิ่มทุน หรือขายออกก่อนวันขึ้น XR อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจ เพราะเมื่อหุ้นมีการเพิ่มทุนไปแล้ว พอร์ตการลงทุนของเราจะได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ลดลงตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “Dilution Effect” นั่นเอง สุดท้ายนี้เชื่อว่าบทความนี้จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักลงทุนได้รู้จักหุ้นเพิ่มทุนกันไม่มากก็น้อย
ข่าวเด่น