การค้า-อุตสาหกรรม
'กรมเจรจาฯ' เตือนผู้ส่งออกรับมือมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของสหรัฐฯ และอียู


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยสหรัฐฯ และอียู เตรียมออกมาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยในปี 2567 สหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน อะลูมิเนียม เอทานอล และในปี 2569 จะขยายครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูป ด้านอียูจะนำร่องเก็บภาษีกับสินค้า 8 ชนิด ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก คาดเริ่มบังคับใช้ ปี 2570 แนะผู้ส่งออกปรับกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอน และเตรียมหลักฐานประกอบการส่งออก


 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศคู่ค้าของไทย พบว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายกำหนดมาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกกับสินค้าที่กระบวนการผลิตส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง ด้านสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยเสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐฯ และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 เหรียญสหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะบังคับกับสินค้า อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 และภายในปี 2569 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับสหภาพยุโรปยังอยู่ระหว่างการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะนำร่องเก็บภาษีกับสินค้า 8 ชนิด ที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2570

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบร่างกฎหมาย CCA ของสหรัฐฯ กับมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป พบว่า ทั้งสองมาตรการมีเป้าหมายเดียวกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ มาตรการ CBAM จะใช้บังคับกับสินค้านำเข้าเท่านั้น และจะเก็บภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนร่างกฎหมาย CCA จะใช้บังคับกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและสินค้านำเข้า และจะเก็บภาษีคาร์บอนเฉพาะส่วนที่เกินกว่ากำหนดเท่านั้น

“ปัจจุบันประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเตรียมบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น โดยจะส่งผลต่อไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยเร่งปรับกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออก นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องเร่งพิจารณายกระดับระบบกลไกราคาคาร์บอนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีหรือซื้อใบรับรองการปล่อยคาร์บอนที่ผู้ผลิตไทยต้องจ่ายให้กับต่างประเทศด้วย” นางอรมนเสริม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ต.ค. 2565 เวลา : 11:07:45
21-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 21, 2025, 2:32 pm