เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเผย "การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง G20 ประจำปี 2565"


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในห้วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2565 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 12 – 13 ตุลาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง G20 ประจำปี 2565 ตามคำเชิญของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ในฐานะประธานการประชุม G20โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้แทนสหภาพยุโรป ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็นร้อยละ 80 ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก


การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง G20 ในปีนี้ มีหัวข้อหลัก ได้แก่ Recover Together, Recover Stronger ซึ่งมีการหารือถึงประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลก (2) สถาปัตยกรรมการเงินระหว่างประเทศ (3) กฎระเบียบภาคการเงิน (4) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (5) การเงินที่ยั่งยืน และ (6) ภาษีระหว่างประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันคือการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงาน รวมถึงภาวะเงินเฟ้อซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยภาครัฐควรใช้นโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งได้แสดงความเห็นสนับสนุนการดำเนินการของ G20 เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสาธารณูปโภค ระบบขนส่งและดิจิทัล รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสริมสร้างขีดความสามารถและความเชื่อมโยง รวมถึงการสร้างการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยในส่วนของแหล่งเงินทุนนั้น ประเทศไทยได้ส่งเสริมการจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาล หรือการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สนับสนุนความคืบหน้าของความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศโดยเฉพาะการดำเนินการภายใต้กรอบ G20/OECD Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) และเห็นว่าภาครัฐควรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก G20 ควรสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีต่อไป

อนึ่งในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินเอกชน ได้แก่ Mitsubishi UFJ Financial Group และ HSBCเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมทั้งหารือถึงการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองสถาบันได้แสดงความสนใจและเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่านโยบายของภาครัฐจะเอื้อต่อการลงทุนเพื่อการพัฒนาในระยะยาวต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ต.ค. 2565 เวลา : 21:02:02
01-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 1, 2024, 11:53 am