เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เผย "กับดักหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก"


เศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนฐานรากของไทยมีความซับซ้อน หลากหลาย และท้าทายไม่แพ้ครัวเรือนกลุ่มอื่นๆ ของประเทศ งานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ดร. ลัทธพร รัตนวรารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับการสำรวจภาคสนามเพื่อศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยกว่า 6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาหนี้สินกันในวงกว้าง และศึกษากลไกการติดกับดักหนี้ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนาของครัวเรือนกลุ่มนี้ โดยพบว่า

 
3 ปัญหาท้าทายการบริหารจัดการทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทย ได้แก่ (1) รายได้น้อย ไม่พอใช้จ่ายจำเป็น และไม่พอชำระหนี้ (2) รายได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีปัญหาสภาพคล่องในหลายเดือนต่อปี และ (3) รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบริหารจัดการยาก เช่น ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติและความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นทุก ๆ 3 ปี และอาจเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในอนาคต โดยข้อมูลพฤติกรรมการเงินรายเดือนแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรกรกว่า 18% มีรายได้ไม่พอจ่ายในทุก ๆ เดือน ขณะที่ 67% มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน และมีเพียง 15% เท่านั้นที่ยังคงมีรายได้พอจ่ายทุกเดือน แต่ทุกกลุ่มก็มีรายได้ที่ไม่แน่นอน และเปราะบางสูง
 
เครื่องมือทางการเงินยังไม่ตอบโจทย์ แต่กลับนำมาซึ่งปัญหาหนี้ โดยครัวเรือนเกษตรกรมีความตระหนักรู้ทางการเงินน้อย และยังไม่สามารถใช้การออมและประกันภัยมาช่วยจัดการปัญหาการเงินได้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ออมน้อย และไม่ได้ออมเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้ผลตอบแทนต่ำ มีความเสี่ยงสูง หรือสภาพคล่องต่ำ การทำประกันภัยก็ยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงของรายได้ ที่ผ่านมาครัวเรือนจึงใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการทางการเงิน และสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จากสถาบันการเงินที่หลากหลายทั้งในและนอกระบบ ทำให้กว่า 90% มีหนี้สิน มีหนี้เฉลี่ยปริมาณมากถึง 450,000 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้เดิมที่ชำระไม่ได้ และหนี้ใหม่ที่ก่อเพิ่มทุกปี แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนเกษตรกรกำลังใช้สินเชื่อกันอย่างไม่ยั่งยืน 
 
3 ปัญหาสำคัญของระบบการเงินฐานราก ที่กำลังฉุดรั้งการใช้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของครัวเรือน คือ (1) ปัญหาการขาดแคลนข้อมูล ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพและนิสัยที่แท้จริงของเกษตรกร และไม่มีข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน ทำให้การปล่อยสินเชื่ออาจยังไม่ทั่วถึงและตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ และที่สำคัญอาจไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเกินศักยภาพของครัวเรือน งานวิจัยพบว่า ครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มโดยเฉพาะเพื่อทำเกษตรและลงทุน ขณะที่ 57% มีหนี้สินรวมจากทุกแหล่งสูงเกินศักยภาพในการชำระ และมีพฤติกรรม ‘การหมุนหนี้’ กันในวงกว้าง (2) ปัญหาการออกแบบสัญญาชำระหนี้ ที่อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินเกษตรกร จึงไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจและเหมาะสมกับศักยภาพ ทำให้เมื่อกู้ไปแล้ว ครัวเรือนไม่สามารถชำระและปลดหนี้ได้จริง และ (3) ปัญหาในการติดตามและบังคับชำระหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างสถาบันการเงินของรัฐ ที่งานวิจัยพบว่าครัวเรือนมักจะเลือกผิดนัดเป็นอันดับแรก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินชุมชนหรือนอกระบบ ซึ่งอาจใกล้ชิดกับเกษตรกรและมีกลไกการบังคับชำระหนี้ที่เข้มข้นกว่า นอกจากนี้ เมื่อศึกษาสินเชื่อที่ใช้การค้ำประกันกลุ่มกว่า 303,779 กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งเคยเป็นนวัตกรรมของกลไกการบังคับชำระหนี้ในอดีต ก็พบว่ากลับมีปัญหาการชำระหนี้ในวงกว้าง และกำลังกลายเป็น ‘สินเชื่อแห่งความแตกแยก’
 
จากปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนและปัญหาของระบบการเงินฐานราก สู่กับดักหนี้และกับดักแห่งการพัฒนา งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงกลไกการติดกับดักหนี้ที่เริ่มจากปัญหาของครัวเรือนเกษตรกร การใช้เครื่องมือทางการเงินที่ไม่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหาทางการเงิน ประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการเงินฐานราก จนทำให้ครัวเรือนใช้สินเชื่อกันจนเกินศักยภาพและมีปัญหาหนี้ ซึ่งย้อนกลับมาทำให้ปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นวงจร นอกจากนี้ การติดกับดักหนี้ ทำให้ภูมิคุ้มกันของครัวเรือนลดลง ฉุดรั้งการเข้าถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และกำลังกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา 
 
หากจะช่วยให้ครัวเรือนเกษตรกรไทยหลุดพ้นจากกับดักเหล่านี้และสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องแก้ให้ครบวงจร ทั้งปัญหาระบบการเงินฐานราก ปัญหาหนี้ และปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือน โดยมี 6 นโยบายที่ต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วน (policy priorities) คือ (1) การแก้ปัญหาระบบการเงินฐานรากให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการสร้างข้อมูล และใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลในระบบการเงินฐานราก การออกแบบเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์การพัฒนาของครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ โดยเอาความเข้าใจปัญหาของครัวเรือนเป็นตัวตั้ง และการเพิ่มบทบาทสถาบันการเงินชุมชนซึ่งมีความใกล้ชิดกับเกษตรกรในการปิดช่องว่างการเข้าถึงทางการเงินอย่างทั่วถึงและยั่งยืน (2) การแก้หนี้เดิมเพื่อให้ครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ในที่สุด ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งเป้าการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพและเป็นธรรม การสร้างแรงจูงใจ การสร้างความตระหนักรู้และมีตัวกลางมาช่วยเกษตรกรแก้หนี้ร่วมกับสถาบันการเงิน (3) การเติมหนี้ใหม่อย่างทั่วถึง ตอบโจทย์และยั่งยืนขึ้น โดยใช้ข้อมูลมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการทำประกันสินเชื่อ และการทบทวนรูปแบบของสินเชื่อที่ใช้การค้ำประกันกลุ่มให้ยั่งยืนขึ้น ซึ่งต้องทำไปพร้อม ๆ กับ (4) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ครัวเรือน (5) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและความรู้ความเท่าทันทางการเงิน และที่สำคัญคือ (6) การปรับเปลี่ยนนโยบายช่วยเหลือของรัฐเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องและสอดคล้องกัน จากนโยบายเดิม ๆ ที่เน้นการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การพักหนี้ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยพบว่าอาจสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ที่บิดเบี้ยวไปเป็นนโยบายที่เน้นช่วยให้ครัวเรือนสามารถชำระและปลดหนี้ได้ในระยะยาว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ต.ค. 2565 เวลา : 12:07:44
01-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 1, 2024, 11:47 am