นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2565 (เดือนกรกฎาคม – กันยายน) หดตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 หลังจากขยายตัวได้ดีในไตรมาส 1 และ 2 ที่ผ่านมา โดยขยายตัวร้อยละ 4.7 และ 4.4 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังแรงขึ้น อิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอก ขณะที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติสะสมอยู่มาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตสินค้าเกษตร และผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมการผลิต การค้า การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว กลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ และดูแลเอาใจใส่ดีขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และการขยายช่องทางการตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2564 จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศโดยทั่วไปที่ยังคงเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติ มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี ในการผลิต ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน บริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการเปิดประเทศ ทำให้มีการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจจะต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2566 ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิตทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว
ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดของแต่ละสาขาในไตรมาส 3 ว่า สาขาพืช หดตัวร้อยละ 2.8 โดยพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกอ้อยที่มีราคาดี และพื้นที่ที่มีการปลูกซ่อมใหม่บางส่วนหลังประสบอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งหลายพื้นที่ยังต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักและการระบาดของโรคใบด่าง สับปะรดโรงงาน เนื่องจากเกษตรกรมีการบำรุงต้นสับปะรดเพื่อเร่งให้ผลผลิตออกในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 จากราคาที่จูงใจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สับปะรดที่จะให้ผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565 มีปริมาณลดลง ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากมีฝนตกชุกต่อเนื่อง ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง และยังมีการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในบางพื้นที่ของภาคใต้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ ในแต่ละเดือนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทุเรียน และมังคุด ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศทางภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญในไตรมาสนี้ไม่เอื้ออำนวย มีอากาศร้อนสลับกับฝนตกชุก ทำให้ทุเรียนและมังคุดที่จะออกดอกแตกใบอ่อนแทน ส่วนดอกที่ออกแล้วและผลอ่อนบางส่วนยังถูกฝนชะร่วงหล่น เงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอื่น เช่น ทุเรียน และปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมีฝนตกชุกในช่วงออกดอก ทำให้ติดผลน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี โดยในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นฤดูที่ข้าวนาปีออกสู่ตลาด ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากเพียงพอ เกษตรกรจึงขยายการเพาะปลูกในพื้นที่ว่าง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกข้าว อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวนาปีที่เก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 บางส่วนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแต่ไม่รุนแรงมากนัก ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิตทางภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและเพียงพอ และเกษตรกรบางส่วนขยายการเพาะปลูกในพื้นที่นาปรังเดิมที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น และมีการควบคุมโรคและแมลงได้ดีปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในแหล่งผลิตสำคัญ ทำให้ทะลายปาล์มมีความสมบูรณ์ดี จำนวนผลต่อทะลายและน้ำหนักทะลายเพิ่มขึ้น อีกทั้งมาตรการเร่งการส่งออกของอินโดนีเซีย ส่งผลให้เกษตรกรกังวลว่าราคาจะลดลง จึงเร่งตัดผลผลิต และลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกผลของลำไย รวมถึงไม่มีโรคและแมลงระบาด ทำให้ต้นลำไยติดผลดี
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.7 เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีมากขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ มีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และโคเนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกษตรกรมีการควบคุมและป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด ภาครัฐมีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ สุกร เนื่องจากปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกัน ในสุกร (ASF) ประกอบกับเกษตรกรชะลอการนำสุกรเข้าเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด รวมถึงผลกระทบจากต้นทุนราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ไข่ไก่ ผลผลิตลดลงเนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยการปรับลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง และ น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากแม่โคนมมีอัตราการให้น้ำนมดิบลดลงจากการระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนม รวมไปถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เกษตรกรบางรายจึงปลดระวางแม่โคเร็วขึ้น
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 1.5 โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้มีการออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งประสบปัญหาโรคกุ้ง เช่น โรคตัวแดงดวงขาว และกลุ่มอาการโรค ขี้ขาว เป็นต้น ส่งผลให้กุ้งโตช้าและกินอาหารน้อย กุ้งที่จับได้จึงมีขนาดเล็กลง ส่วนปลานิล และปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปีที่ผ่านมา และความต้องการบริโภคเนื้อปลาเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงเพิ่มอัตราการปล่อยลูกปลา มีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยกิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม ประกอบกับราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ต้นปี 2565 ทำให้เกษตรกรเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 รวมทั้งมีการดูแลและบำรุงรักษามากขึ้น ส่งผลให้มีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.8 เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ ครั่ง และรังนก เพิ่มขึ้น โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ และการส่งออกไปยังจีน ลาว และญี่ปุ่น ถ่านไม้ มีความต้องการใช้ของธุรกิจภาคบริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ครั่ง มีการส่งออกไปอินเดียเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และรังนกมีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตไม้ยางพารา ลดลงตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่นและการส่งออกไปยังจีนที่ลดลง
อัตราการเติบโตของภาคเกษตร
ไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคม – กันยายน 2565)
สาขา ภาคเกษตร - ร้อยละ 1.8
สาขา พืช - ร้อยละ 2.8
สาขา ปศุสัตว์ ร้อยละ 1.7
สาขา ประมง - ร้อยละ 1.5
สาขา บริการทางการเกษตร ร้อยละ 2.9
สาขา ป่าไม้ ร้อยละ 1.8
ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ประมาณการ ณ เดือนตุลาคม 2565)
ข่าวเด่น