เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC คาดว่า "มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัว"


 
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ย. ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน 
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 24,919.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.8%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 และเร่งตัวจากเดือนก่อนที่ 7.4% ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายนเทียบกับเดือนสิงหาคม (แบบปรับฤดูกาล) ขยายตัว 5.8%MOM_sa ในภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 10.6%

สินค้าส่งออกหลักเกือบทุกกลุ่มยังขยายตัว โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว
ภาพรวมการส่งออกรายกลุ่มสินค้าพบว่า (1) สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัว 2.7% หลังจากหดตัว -10.3% ในเดือนก่อน เทียบกับที่เคยขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี โดยสินค้าหลักที่หดตัวในเดือนนี้ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่ไก่แปรรูปและไก่สดแช่เย็นแช่แข็งยังเป็นสินค้าสนับสนุนสำคัญ 
 
(2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.8% แต่หดตัว -14%MOM_sa โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดีในเดือนนี้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ปรับแย่ลง ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะมีความเสี่ยงผลผลิตลดลงจากอุทกภัย โดย EIC ประเมินว่าในกรณีฐานสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ส่งผลให้มีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย 1.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะจากข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 12,000 ล้านบาท (หรือเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ในกรณีเลวร้าย)
 
(3) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว  9.4% โดยในเดือนนี้สินค้าที่ส่งออกได้ดี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งสะท้อนปัญหาขาดแคลนชิปที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทอง) ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ส่งออกชะลอลง เช่น เม็ดพลาสติก สายไฟฟ้าและสายเคเบิล เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 
 
 
มองไปข้างหน้า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในระยะถัดไปมีแนวโน้มไม่ค่อยสดใสนัก สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนกันยายน โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนสภาวการณ์ที่แย่ลง นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นยังมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา จนอยู่ในระดับต่ำกว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เน้นตลาดในประเทศที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หากพิจารณาดัชนีคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องชี้สัญญาณการส่งออกในอนาคตพบว่า แม้ดัชนีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นที่ระดับ 102 แต่ก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในประเทศเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของไทยโดย S&P Global ที่ระบุว่า ปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ในภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยคิดเป็น 79.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด  (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 1.2% หลังจากหดตัว -9.7% ในเดือนก่อน และ (5) สินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดในเดือนกันยายน โดยขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ 89.6% เทียบกับ 31.2% ในเดือนก่อน

การส่งออกไปยังตลาดจีนยังน่าเป็นห่วง
การส่งออกรายตลาดยังขยายตัวได้ในตลาดหลักสำคัญ ยกเว้น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอินเดีย โดย (1) ตลาดจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -13.2% โดยสินค้าส่งออกไปจีนที่ลดลงในเดือนนี้ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เคมีภัณฑ์ ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ไก่และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็งเป็นสินค้าที่ส่งออกได้ดี (2) ตลาดญี่ปุ่นหดตัวอีกครั้งในเดือนนี้ที่ -1.7% หลังจากฟื้นตัวในเดือนก่อน (3) ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป (EU28) ขยายตัวเทียบกับปีก่อนที่ 26.1% 
และ 22.2% ตามลำดับ  และขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนแบบ %MOM_sa ในระยะข้างหน้า การส่งออกตลาดนี้อาจชะลอลงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (4) ตลาด CLMV และ ASEAN5 ขยายตัวดีต่อเนื่อง 26.3% และ 9% ตามลำดับ 

ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่องทั้งในระบบดุลการชำระเงินและระบบศุลกากร
มูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือนกันยายนอยู่ที่ 25,772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ 21.3% โดยมูลค่าการนำเข้าเดือนนี้มีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว -5.8% และ -5.9% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ยังขยายตัวได้ดี แต่เริ่มมีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยชะลอตัวช้ากว่ามูลค่าการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรเดือนนี้ขาดดุล -853.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 20.7% และดุลการค้าขาดดุล -14,984.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

EIC มองการส่งออกสินค้าไทยมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก
EIC ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ตามสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลงชัดเจนขึ้นและเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจ และ Geopolitics ทิศทางเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงข้างหน้า รวมถึงจีนที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางจากการใช้นโยบาย Zero-COVID และความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยฐานสูงที่จะเห็นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 
 
โดย EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 6.3% ในปี 2022 และจะชะลอลงเหลือ 2.5% ในปี 2023

 
รูปที่ 1 : การส่งออกไปจีนและฮ่องกงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปประเทศอาเซียนขยายตัวดี
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าหนุนการส่งออกที่สำคัญในเดือนกันยายน 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 3 : ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศุลกากรเกาหลีใต้ และ CEIC

รูปที่ 4 : ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่องทั้งในระบบศุลกากรและระบบดุลการชำระเงิน
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ CEIC

รูปที่ 5 : เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอลงชัดเจนขึ้นอีกและเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะ Policy uncertainty และ Geopolitics
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Baker et al. (policyuncertainty.com), S&P Global และ CEIC
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-261022

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส    
                   
                            
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักวิเคราะห์

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)  และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
 
วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
 
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
 
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
 
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
 
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2565 เวลา : 11:33:23
01-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 1, 2024, 9:20 am