เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน 2565


“เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด”


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน 2565 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า  โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 34.9 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -0.1 สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.9 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -0.9 ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนกันยายน 2565 ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 10.7 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนกันยายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.6 จากระดับ 43.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันภายในประเทศที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนกันยายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -8.6

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 31.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 9.1 อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกันยายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -9.4 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.3 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.5 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 26.5 และทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.0

มูลค่าการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 24,919 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 9.0 โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ 1) สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.4 อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ที่ขยายตัวร้อยละ 115.7 23.4 และ 18.3ตามลำดับ 2) สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยเฉพาะไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ขยายตัวร้อยละ 82.9 19.8 และ 13.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสำคัญ อาทิ ตะวันออกกลาง สหรัฐฯ อาเซียน 9 และทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 47.5 26.2 16.1 และ 15.5 ตามลำดับ    
 
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกันยายน 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 1.31 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10,598.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 250.8 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม ลาว และสิงคโปร์ ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกันยายน 2565 จำนวน 16.8 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 665.5 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -9.9 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91.8 จากระดับ 90.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยมาจากภาคการผลิตที่ยังคงขยายตัวตามความต้องการสินค้าโดยเฉพาะตลาดในประเทศ หลังการเปิดประเทศและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลจากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าในระยะต่อไป สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนกันยายน 2565 ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -0.6 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.2 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวโพดและสินค้าในหมวดประมงเป็นสำคัญ

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการระดับราคาสินค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 6.41 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.12 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 60.72 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.61 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 199.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2565 เวลา : 12:54:07
01-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 1, 2024, 9:48 am