การค้า-อุตสาหกรรม
กยท. ย้ำชัด ยางพาราเป็นพืชเกษตรศักยภาพสูง ปลูกแล้วได้คาร์บอนเครดิต สร้างกำไรสองต่อ


การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยืนยันยางพาราเป็นพืชเกษตรที่มีศักยภาพสูงในการกักเก็บ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถแปลงมาเป็นคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้ทางเสริมให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
 
 
 
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น เนื่องจากมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและการซื้อขายที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะตอนนี้ที่ราคาขายของคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หลายคนจึงเริ่มมีคำถามว่าต้นไม้แบบไหน พันธุ์ใด ชนิดใด สามารถแปลงคาร์บอนเครดิตมาเป็นมูลค่าเงินให้กับผู้ปลูกในอนาคตได้ ซึ่งแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตคาร์บอนเครดิต ไม่ได้มีเพียงภาคป่าไม้และพื้นที่สีเขียวเท่านั้น หากยังมีภาคการเกษตรที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแปลงปริมาณการกักเก็บเป็นเครดิตที่สามารถนำไปซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนในตลาดคาร์บอนได้
 
 
ปัจจุบันมีพืชเกษตรหลายชนิดที่ถูกนำมาประเมินหาปริมาณการสะสมคาร์บอน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน ลำไย และไม้ยืนต้นอื่นๆ โดยยางพาราถือเป็นพืชเกษตรที่มีศักยภาพสูงในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากลำต้นของต้นยางพารามีลำต้นหลักเพียงต้นเดียว ไม่มีการแตกนางหรือแตกกอ ทั้งยังมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็ว จึงมีมวลชีวภาพแปรผันตรงตามอายุของยางพาราเมื่อต้นยางพาราอายุมากขึ้นมวลชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปริมาณมวลชีวภาพมีผลต่อศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนและอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลักษณะแปรผกผันตามอายุของยางพารา (อบก.และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2554; ระวี เจียรวิภาและคณะ, 2555; มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2563) ดังนี้

 
• ยางพาราอายุ 1-5 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.07 ตันต่อไร่ต่อปี

• อายุ 6-10 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.34 ตันต่อไร่ต่อปี

• อายุ 11-15 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.21 ตันต่อไร่ต่อปี

• อายุ 16-20 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.08 ตันต่อไร่ต่อ

• อายุ 21-25 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 0.96 ตันต่อไร่ต่อปี
 
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวย้ำว่า ในตอนนี้ กยท.ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสวนยางพาราอยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. ประมาณ 22 ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง.
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.
 

LastUpdate 28/10/2565 18:49:18 โดย : Admin
21-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 21, 2025, 5:53 pm