ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน BOT Digital Finance Conference 2022 ภายใต้แนวคิด Collaborate. Innovate. Inspire. ระหว่างวันที่ 27 - 29 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญกว่า 70 รายจาก 15 ประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดในการวางรากฐานและพัฒนาภาคการเงินดิจิทัลไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การเสวนาเวทีหลักในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. Responsible Innovation และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Unlocking Opportunities for Thailand with Responsible Financial innovations” โดยหยิบยกความท้าทาย 4 ประการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ได้แก่ (1) การเติบโตทางเศรษฐกิจและผลิตภาพการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งการขาดความสามารถในการแข่งขัน (2) การขาดภูมิคุ้มกันในการรับมือกับความผันผวนซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน (3) การละเลยความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน และ (4) ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้ง ได้เน้นว่านวัตกรรมที่จะช่วยให้ก้าวข้ามความท้าทายข้างต้นนั้นไม่ใช่นวัตกรรมใดๆ ก็ได้ แต่ต้องเป็นนวัตกรรมที่ดูแลความเสี่ยงบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (responsible innovation) ที่สามารถเสริมสร้างศักยภาพและ productivity ของเศรษฐกิจได้จริง ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน คำนึงถึงมิติความยั่งยืน และช่วยสร้างความมั่งคั่งที่สังคมได้รับประโยชน์ร่วมกันได้โดยเท่าเทียม ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ธปท. จะส่งเสริม responsible innovation ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญ การสนับสนุนนวัตกรรมของภาคเอกชนผ่านการปรับปรุงเกณฑ์และ regulatory sandbox ที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนเข้ามาแข่งขันได้
นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ ได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดย ธปท.พร้อมเปิดกว้าง รับฟัง และร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดัน responsible innovation ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำ โดย นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. และผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Building Thailand’s Future Digital Economy” และหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันได้ การสร้างระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริม use cases ที่ตรงกับความต้องการของประชาชน และการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
ในเรื่องการพัฒนาระบบการชำระเงิน นายรณดล กล่าวว่า ธปท. ให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลการชำระเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกันได้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน (Openness) (2) การส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลและการให้ความรู้การใช้งานแก่ทุกภาคส่วน (Inclusivity) และ (3) การกำกับดูแลผู้ให้บริการชำระเงินอย่างยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน (Resiliency)
ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “Are we ready for Payments of the Future?” ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเรื่องบริการชำระเงินดิจิทัลเป็นอย่างมาก และน่าประทับใจ โดยในอนาคตผู้ให้บริการควรนำนวัตกรรมมาช่วยให้ขั้นตอนต่าง ๆ ง่าย และปลอดภัยยิ่งขึ้น ตลอดจนร่วมมือกับผู้กำกับดูแลและกลุ่ม startup ผลักดัน responsible innovation ขณะเดียวกัน ในด้านการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศ ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “Enhancing Frictionless Cross-border Payments for All” เห็นว่า หากเราสามารถส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันของการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการกลุ่มต่างๆ ยิ่งขึ้นได้ ก็จะช่วยให้บริการดังกล่าวเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรมอย่าง Central Bank Digital Currency (CBDC) จะช่วยลดอุปสรรคของการทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้ค่อนข้างมาก
สำหรับการพัฒนา digital ID โดยเฉพาะของนิติบุคคลนั้น ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “Business in the digital world: the evolution of digital identity” เห็นว่า ต้องพัฒนาระบบหรือมาตรฐานที่เชื่อมโยงผู้ร่วมตลาดให้ทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งผลักดันการพัฒนานวัตกรรมและการแข่งขัน ทั้งนี้ digital ID เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของธุรกรรมดิจิทัล จึงต้องพัฒนากระบวนการอื่น เช่น ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความชัดเจนทางกฎหมาย และจัดการเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคได้
3. ประเด็นที่ภาคการเงินควรสนใจและการปรับตัวของผู้เล่นต่างๆ ในยุค disruption
จากการบรรยายหัวข้อ “Strategic Foresights on Future of Financial services” ในปี 2566 ภาคการเงินควรให้ความสนใจประเด็นด้านความเสี่ยง เช่น การบริหารความเสี่ยงองค์กร สภาพคล่อง สินทรัพย์และหนี้สิน ความเสี่ยงด้านตลาด (market risk) และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับมิติด้านความยั่งยืน (sustainability) ปรับตัวให้ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ดังกล่าว รวมทั้ง เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศในเรื่องนี้
สำหรับการปรับตัวของผู้เล่นต่าง ๆ ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “Reinventing Financial Services in the Age of Disruptions” เห็นว่า ธนาคารจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ตรงใจเพื่อให้รักษาลูกค้าไว้ได้ภายใต้การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจขนาดเล็กก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัวและเปิดรับเทคโนโลยีให้ได้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันผู้บริโภคต้องระมัดระวังภัยไซเบอร์และเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าวได้ด้วย
ข่าวเด่น