.jpg)
หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนสามารถเดินทาง ไปเที่ยวใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการเปิดประเทศและการกระตุ้นเรื่องท่องเที่ยวในช่วงปลายปีน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้บรรยากาศในประเทศกลับมาคึกคัก เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,148 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้
1. หลังจากประกาศยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ในช่วงสิ้นปีนี้จะเป็นอย่างไร
ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 79.88% เหมือนเดิม 17.94% แย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา 2.18%
2. ในช่วงสิ้นปี-ปีใหม่นี้ ประชาชนคิดว่าจังหวัดใดน่าท่องเที่ยวมากที่สุด
อันดับ 1 เชียงใหม่ 38.85%
อันดับ 2 เชียงราย 19.30%
อันดับ 3 น่าน 15.79%
อันดับ 4 ภูเก็ต 13.28%
อันดับ 5 ประจวบคีรีขันธ์ 12.78%
3. ประชาชนสนใจการท่องเที่ยวแบบใด
อันดับ 1 เน้นการพักผ่อน พักโรงแรมที่สวยงาม สะดวกสบาย 55.62%
อันดับ 2 ไปทะเล ชายหาด 51.41%
อันดับ 3 เที่ยววัด ทำบุญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 45.43%
4. ปัจจัยใดที่จะทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
อันดับ 1 ค่าใช้จ่ายเหมาะสม คุ้มค่า 71.65%
อันดับ 2 ความสะดวกในการเดินทาง 68.50%
อันดับ 3 มีโปรโมชั่น ส่วนลดต่างๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น 46.98%
5. หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลควรเร่งดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไร
อันดับ 1 กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ 60.16%
อันดับ 2 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง 57.34%
อันดับ 3 เปิดตลาดการท่องเที่ยวใหม่ ๆ มีเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ 56.29%
6. ประชาชนมีการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้หรือไม่
อันดับ 1 มี 54.01%
อันดับ 2 ยังไม่แน่ใจ 32.49%
อันดับ 3 ไม่มี 13.50%
7. กรณีที่ประชาชนมีการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ เป็นการท่องเที่ยวแบบใด ค่าใช้จ่ายประมาณกี่บาท
อันดับ 1 เที่ยวในประเทศ (คาดการณ์ใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยประมาณ 11,977 บาท) 87.58%
อันดับ 2 เที่ยวต่างประเทศ (คาดการณ์ใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยประมาณ 75,900 บาท) 12.42%
*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)
สรุปผลการสำรวจ : คำตอบท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,148 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคม 2565 พบว่า กลุ่มตัวอย่างคิดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในช่วงสิ้นปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 79.88 จังหวัดที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในช่วงสิ้นปี-ปีใหม่นี้ คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 38.85 ส่วนใหญ่สนใจการท่องเที่ยวแบบเน้นการพักผ่อน พักโรงแรมที่สวยงาม สะดวกสบาย ร้อยละ 55.62 ปัจจัยที่จะทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น คือ ค่าใช้จ่ายเหมาะสม คุ้มค่า ร้อยละ 71.65 ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ร้อยละ 60.16 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ร้อยละ 57.34 เมื่อถามว่ามีการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 54.01 ตอบว่ามีแผนเดินทางท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็นการเที่ยวในประเทศ ร้อยละ 87.58 (คาดการณ์ ใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยประมาณ 11,977 บาท) เที่ยวต่างประเทศ ร้อยละ 12.42 (คาดการณ์ใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยประมาณ 75,900 บาท)
“การฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว” เริ่มเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจากสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยที่เริ่มกลับมาครึกครื้น จะเห็น ได้จากผลสำรวจที่ประชาชนมองว่าการท่องเที่ยวไทยในสิ้นปีนี้น่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งได้มีแผนเดินทางท่องเที่ยวไว้แล้ว โดยสนใจท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น หากภาครัฐมีการส่งเสริมเรื่องค่าใช้จ่าย โปรโมชั่น การเดินทางที่สะดวก มีเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั้งเมืองหลักและเมืองรองก็จะช่วยกระตุ้นการเดินทางในประเทศได้ ตรงใจประชาชน และทำให้ประชาชนกล้าที่จะใช้จ่ายมากขึ้น
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โทร 086-3766533
ผลจากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) เรื่องคำตอบท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 พบว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยในไตรมาส 4 นี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ โดยทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเห็นว่าคำตอบของท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 ควรมาจากการออกแบบการท่องเที่ยวใหม่ หรือ Tourism Redesign โดยนำเสนอยุทธศาสตร์สมดุล 4 ประการเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนคือ 1) สมดุลเมืองหลักและเมืองรอง 2) สมดุลผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่ 3) สมดุลด้านการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและ ที่มนุษย์สร้างขึ้น และ 4) สมดุลของแผนด้านการท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้หลายภาคส่วนที่เข้าร่วมสนทนากลุ่มมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันในประเด็นด้านอุปทานการท่องเที่ยว ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมการตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวในฝั่งอุปสงค์ โดยดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สิ่งสำคัญที่สุด คือ การนำเสนอคุณค่าและประสบการณ์การท่องเที่ยวไทยอย่างจริงแท้ ซื่อตรง เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวเพื่อให้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์มาดา วิชาศิลป์
คณบดีโรงเรียนการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ข่าวเด่น