ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 88-98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (31 – 4 พ.ย. 65)
ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวที่ระดับต่ำ หลังตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ และเสถียรภาพในการบริหารงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลง หากพรรคเดโมแครตสูญเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในประเทศจีนที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว หลังกลุ่ม OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิตสำหรับโควตาในเดือน พ.ย.
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
รอยเตอร์โพลเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75 % สู่ระดับ 3.75 – 4.00 % ในการประชุมคณะกรรมการกลางนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 1 – 2 พ.ย. 65 หลังดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 0.6 %M-o-M การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. 65 ตลาดคาดว่าพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะและกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาสูง (Senate) อีกครั้ง ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) ผลการสำรวจในขณะนี้พบว่าทั้งสองพรรคมีคะแนนที่ค่อนข้างสูสี หากพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในทั้งสองสภา อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และกดดันต่อปริมาณการใช้น้ำมันภายในประเทศ จากการดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
ตลาดคาดการณ์ว่าการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ของจีนรวมถึงนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อเปิดสมัยการประชุมที่ 20 จบลงในวันที่ 22 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา คณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ที่ได้รับเลือกในครั้งนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ ปธน. สี จิ้นผิง โดยหนึ่งในนั้นคือ นายหลี่เฉียง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ และคาดว่าจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงต้นปีหน้า
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ยังคงกดดันตลาด แม้จีนประกาศล๊อกดาวน์เมืองฮันยาง ในมณฑลอู่ฮั่นซึ่งมีประชากรราว 900,000 คน ตั้งแต่วันพุธที่ 26 ต.ค. แต่หลายเมืองในจีนยังคงใช้มาตรการเข้มงวดในการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ
รมว.พลังงานของซาอุดิอาระเบีย กล่าวในที่ประชุม Future Initiative Investment (FII) ว่าซาอุฯ ยังคงเป็นผู้เล่นคนสำคัญในตลาดน้ำมันโลก และมองว่าการปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาสตร์นั้น จะไม่เป็นผลดีต่ออุปทานน้ำมันโลกในระยะยาว หลังผู้นำสหรัฐฯ แถลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงแผนระบายน้ำมันจากคลังยุทธศาสตร์ (SPR) ปริมาณ 15 ล้านบาร์เรล เพื่อตอบโต้กลุ่ม OPEC+ ซึ่งมีมติปรับลดกำลังผลิต 2 ล้านบาร์เรลในเดือน พ.ย. 65
เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาหฺนี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 65 และตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ต.ค. 65 และอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 65
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 - 28 ต.ค. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 3.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่ม 2.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 95.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 92.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงส่งผลให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนผู้ถือครองสกุลเงินอื่น และความกังวลต่ออุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวหลังการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังมีแรงกดดันจากรายงานสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ต.ค. 65 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล และการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์วันที่ 15 – 21 ต.ค. 65 ที่ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 5.1 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น