เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS วิเคราะห์ "เปิดประเทศเต็มสูบ พา ตลาดท่องเที่ยวฟื้น คาดต่างชาติระยะใกล้ หนุนตลาดท่องเที่ยวปี 66 ก่อนลุ้นนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวเต็มที่ปี 67"


Krungthai COMPASS ประเมินการท่องเที่ยวไทยจะทยอยฟื้นตัวในปี 2566 และฟื้นตัวชัดในปี 2567 โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะอยู่ที่ 21.4 และ 34.7 ล้านคน ตามลำดับ และมีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในภาพรวมอยู่ที่ 1.6 และ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 58-87% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของไทย และความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่สะสมมานานกว่า 2-3 ปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาเดินทางได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 เป็นต้นไป

 
นักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2566 ซึ่งยังกดดันให้ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี (2560-2562) ที่ผ่านมาถึง 17%
 
 
Krungthai COMPASS ประเมินภาคการท่องเที่ยวของไทยว่าจะกลับสู่ระดับปกติได้ในช่วงปลายปี 2567 โดยไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกสะท้อนจากการสำรวจของ Condé Nast Traveler ซึ่งเป็นนิตยสารด้านการท่องเที่ยวชั้นนำ ที่ชี้ว่าไทยติดอันดับ 3 ของประเทศที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก 

ภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2565 ยังได้รับควันหลงจากโควิด-19
 
Krungthai COMPASS ประเมินว่า แม้การเปิดประเทศในครึ่งหลังของปีจะส่งเสริมให้ไทยสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2565 ได้ 10.2 ล้านคน แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 ที่ไทยเคยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้สูงเกือบ 40 ล้านคน โดยคาดว่าตลาดการท่องเที่ยวในปี 2565 มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมาจากรายได้นักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก และยังต่ำกว่าปี 2562 ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 2.7 ล้านล้านบาท อย่างเห็นได้ชัด
 
 
แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมายังปี 2564 ทำให้มูลค่าตลาดท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือเพียง 0.4 ล้านคน จากที่เคยอยู่ในระดับ 39.9 ล้านคน ในปี 2562 และมีมูลค่าตลาดเหลือเพียง 2.4 แสนล้านบาท หรือลดลงมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
 
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บรรเทาลง ทำให้ในช่วงกลางปี 2565 ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การยกเลิกระบบ Test & Go และ Thailand Pass เพื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยรวม 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6,526%YoY อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าวยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 19% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เท่านั้น (รูปที่ 1)
 
 

 
อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS คาดว่าในปี 2566-2567 ภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด จาก 4 ปัจจัยหนุน
 
 
ประการที่ 1 นักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ แห่เที่ยวไทยหลังเปิดประเทศ
 
 
นักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นหลัก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ที่เดินทางมาไทย 3.6 ล้านคน  คิดเป็นสัดส่วน 63.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามพรมแดน หลังจากที่มีการปิดพรมแดนมานานกว่า 2 ปี ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยเฉพาะมาเลเซีย เริ่มเดินทางกลับมาท่องเที่ยวมากขึ้น (รูปที่ 2) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวในประเทศตนเอง  รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวมีความน่าสนใจมากกว่า (ที่มา: Utusan Malaysia) โดย Krungthai COMPASS มองว่าในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ เช่น มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทย ก่อนที่นักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักอย่างจีนจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 2567 
 

 
 
อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่านักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มักมีพฤติกรรมในการพำนักในไทยไม่นาน โดยมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 2-5 วัน ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปไม่สูงนัก ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ชี้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้จะมีค่าใช้จ่ายต่อทริปประมาณ 25,000-38,000 บาทต่อคน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 41,240 บาทต่อคน อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างชาวจีน และชาวยุโรปจะมีระยะเวลาพำนักนานกว่าที่ 7-8 วัน และ 17 วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ จากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ที่เดินทางมาไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ที่มีสัดส่วนกว่า 63.7% ส่งผลให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉลี่ยในปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 37,458 บาทต่อคน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (รูปที่ 3)
 
ประการที่ 2 นักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอื่นๆ ก็พร้อมที่จะเดินทางหลังอัดอั้นมานานกว่า 3 ปี
 
 
Krungthai COMPASS มองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอื่นๆ มีความต้องการเที่ยวสะสมมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 และพร้อมที่จะปลดปล่อยในช่วงปี 2566-2567 แม้ในปัจจุบันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยจะมาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก และในปี 2566 ก็คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอาจยังไม่กลับมาในระดับปกติ แต่ เราคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ในภาพรวมยังคงมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศมากว่า 2-3 ปี 
 
 
สอดคล้องกันกับงานวิจัยของ Euromonitor International เมื่อ ต.ค. 2565 ที่ระบุว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566-2567 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก และอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกอยู่ในระดับสูง (รูปที่ 4) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังมั่นใจว่าตลาดการท่องเที่ยวจะกลับมาสดใสอีกครั้งหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยผลสำรวจขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ชี้ให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวส่วนใหญ่คาดว่าตลาดการท่องเที่ยวของโลกจะขยายตัวต่อเนื่องและจะสามารถกลับสู่ระดับปกติได้ในปี 2566-2567 อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชี้ว่านักท่องเที่ยวในทวีปเอเชียและแปซิฟิกจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าทวีปอื่นๆ เนื่องจากบางประเทศยังคงไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ จีน ฮ่องกง (รูปที่ 5)
 

 

ประการที่ 3 นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่พร้อมกลับมาเที่ยวไทย เมื่อไหร่ก็ตามที่นโยบาย Zero-COVID ถูกยกเลิก
 
 
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนยังคงไม่สามารถกลับมาเดินทางได้เป็นปกติ และคาดว่าจะยังไม่มีการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ในปี 2565 นี้ หลังจากที่ประเทศจีนมีการนโยบายควบคุมเดินการเดินทางเข้าออกประเทศอย่างไม่มีกำหนดมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างมาก โดยในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่สร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยกว่า 5.3 แสนล้านบาท แม้ประเทศไทยจะมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวได้ในระดับต่ำ ซึ่งสาเหตุมาจากมาตรการ Zero-COVID (ผู้ที่จะเดินทางออกนอกประเทศจีนในปัจจุบัน ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำงาน การศึกษา การทำธุรกิจเกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น) โดยนักท่องเที่ยวจีนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 คนต่อเดือน และเพิ่มเป็น 32,320 คนในเดือน ก.ย. 2565 หลังไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ซึ่งยังต่ำกว่าปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเฉลี่ยราว 9.3 แสนคนต่อเดือน อย่างมาก (รูปที่ 6)
 
 
ปัจจุบันแม้รัฐบาลจีนจะประกาศขยายอายุมาตรการ Zero-COVID ออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS มองว่าเมื่อจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาไทยมากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจชาวจีนโดย Booking.com ที่ชี้ว่า 62% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าตั้งใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทันทีหลังจีนยกเลิกนโยบาย Zero-COVID (รูปที่ 7) โดยมีไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศปลายทางที่ต้องการเดินทางมามากที่สุด  ซึ่งที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดโควิด-19 (ปี 2562) ไทยมีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศรวม 11.1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากคาดว่าการผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID ของจีน จะอยู่ในรูปแบบของการทยอยผ่อนคลายเป็นรายมณฑล มากกว่าการประกาศยกเลิกนโยบายพร้อมกันทั่วประเทศ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลับมาสู่ระดับปกติได้ในปี 2567 
 
 

 
รู้หรือไม่?

นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มที่ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลก โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศรวมกว่า 155 ล้านคน ซึ่งมีการมูลค่ารวมกว่า 8.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก ทั้งนี้หลังจากที่จีนมีมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ
 
 
เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนโดยรวมลดลงจาก 155 ล้านคน เหลือเพียง 20 ล้านคน

ประการที่ 4 Wellness tourism โอกาสใหม่ในยุค New Normal จะเป็น Upside สำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
 
 
Global Wellness Institute (GWI) ได้ประเมินว่า ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ ”Wellness Tourism” ของโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าปีละ 20.9% จากมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 โดยมีแรงผลักดันหลักจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีภาวะความเครียดมากมาย ทำให้ Wellness Tourism ถือเป็นโอกาสของสำคัญของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดย GWI ได้ให้คำนิยามว่า  Wellness Tourism คือ การท่องเที่ยวที่ส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน ที่เน้นกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งสุขภาพทางกายและทางใจ เช่น กิจกรรมสปา โยคะ ออนเซ็น เป็นต้น ซึ่ง GWI ได้จัดอันดับ Wellness Tourism ของไทยอยู่ในลำดับที่ 15 ของโลก และ อันดับที่ 4 ของเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากไทยมีจุดแข็งในด้านค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้รับ
 
 
Krungthai COMPASS จึงมองตลาด Wellness Tourism ว่าจะเป็น Upside สำคัญของกาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปค่อนข้างสูง (รูปที่ 8) ดังนั้นในปี 2565-2566 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม อาจปรับกลยุทธ์ธุรกิจโดยการหันไปทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Wellness แทนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไป ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้เร็วขึ้น
 
 
 
 

ปี 2567 การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวชัด หวังกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19
 
 
Krungthai COMPASS ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 10.2 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวรวม 1.1 ล้านล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 ที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วง High Season คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวเร่งขึ้นอยู่ในระดับ 1.5 ล้านคนต่อเดือน รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวใกล้เคียงระดับปกติแล้ว จากการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้คนไทยมีความมั่นใจและเริ่มกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ 
 
 
สำหรับปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวขึ้นเป็น 21.4 ล้านคน โดยคาดว่ามูลค่าตลาดการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการที่หลายประเทศจะเริ่มเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักจะเริ่มทยอยกลับมาเดินทางได้ประมาณช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมจะฟื้นตัวดีขึ้นจากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่สะสมมานานกว่า 2-3 ปี อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากคาดว่าการผ่อนคลายนโยบายซีโร่โควิด-19 ของจีนจะอยู่ในรูปแบบของการทยอยผ่อนคลายเป็นรายมณฑล มากกว่าการประกาศยกเลิกนโยบายพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้ในปี 2565-2566 สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้เป็นหลัก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19
 
 
ในปี 2567 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมจะฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงระดับปกติ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวขึ้นเป็น 34.7 ล้านคน และมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาอยู่ในระดับ 3.0-3.5 ล้านคนต่อเดือน ได้ประมาณช่วงไตรมาส 4 ของปี 2567 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมในปี 2567 จะกลับมาในระดับ 87% เมื่อเทียบกับปี 2562 นอกจากนี้ ขณะที่สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปสูง เช่น จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา จะฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงระดับปกติ ส่งผลให้มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในปี 2567 ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน

สรุป:
 
Krungthai COMPASS มองว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 จะมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นจากการเข้าสู่ช่วง High Season นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าและการที่ภาครัฐมีนโยบายขยายระยะเวลาพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทางมายังไทยจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 30 วัน เป็น 45 วัน จะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.5 ล้านคนต่อเดือน ส่งผลให้ทั้งปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 10.2 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 25% จากระดับ 39.9 ล้านคนในปี 2562 เท่านั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มหลักยังไม่สามารถกลับมาเดินทางได้ปกติ 
 
 
ขณะที่ในปี 2566-2567 คาดว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจนตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 21.4 และ 34.7 ล้านคน โดยมีปัจจัยบวกหลักมาจากความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่สะสมมานานกว่า 2-3 ปี รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเริ่มกลับมาได้ในช่วงปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ประมาณช่วงปลายปี 2567 เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่ปัจจุบันเริ่มทยอยมีการเปิดประเทศมากขึ้น 
 
 
อย่างไรก็ตาม เป็นข้อสังเกตว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565-2566 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 39.9 ล้านคนค่อนข้างมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ ซึ่งมีการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปค่อนข้างน้อย ซึ่งยังกดดันให้ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และส่งผลต่อเนื่องให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคต อีกทั้งต้นทุนทางธุรกิจยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานขั้นต่ำ ค่าไฟฟ้า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ท่ามกลางภาวการณ์แข่นขันที่รุนแรง 
 
 
ดังนั้น ภาคธุรกิจอาจต้องปรับตัวโดยการลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เช่น กลุ่ม Wellness Tourism ที่มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปค่อนข้างสูง หรือกลุ่ม Digital Nomad ที่เข้ามาพำนักเพื่อการทำงานผ่านระบบดิจิทัล (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อีเมล ฯลฯ) ซึ่งมีระยะเวลาเข้าพักนานกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป รวมถึงพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนลง ก่อนที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2567 
 
ธนา ตุลยกิจวัตร Krungthai COMPASS 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ย. 2565 เวลา : 12:46:10
01-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 1, 2024, 7:50 am