บีซีไอฯ พร้อมเปิดให้บริการ หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชน (eLG) หลัง ธปท.ไฟเขียวให้ออกจาก Sandbox ตั้งธงรุกหนักกวาดยอดธุรกรรมครึ่งตลาดเข้าระบบ eLG ภายในปีนี้ รวมมูลค่าธุรกรรมกว่า 2 แสนล้านบาท ชี้จุดเด่นความสะดวกรวดเร็ว ลดเวลา-ขั้นตอนทำงาน แย้มแผนต่อไปลุยปั้นบริการออกหนังสือรับรองผ่านบล็อกเชน
นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บีซีไอฯ เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารทหารไทยธนชาต เพื่อศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชนและร่วมกันพัฒนา Infrastructure Blockchain ทางการเงิน
บีซีไอฯ ได้พัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ eLG (Electronic Letter of Guarantee on Blockchain) เป็นบริการแรกโดยเข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้งานจริงนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา ยกระดับการให้บริการ eLG ช่วยให้การทำธุรกรรมที่จำเป็นต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน และยังมั่นใจได้เรื่องความปลอดภัย สามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% ตลอด 24 ชั่วโมง กล่าวคือ “จุดเด่นของบริการ eLG อยู่ที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนให้การทำธุรกรรมสะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนการทำงานลง แม้ในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่การทำธุรกรรมต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างยากลำบาก บริการ eLG ก็ยังคงช่วยให้การดำเนินธุรกิจไม่สะดุด โดยสามารถออกหรือคืนหนังสือค้ำประกันผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า จึงเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ บีซีไอฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ทางการการเงินและธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้เรามีพันธมิตรสำคัญช่วยสนับสนุน อาทิ กรมบัญชีกลาง ได้ใช้หนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอราคาของภาครัฐ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ได้ร่วมผลักดันและขยายการใช้บริการงานหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังรวมถึงภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครือปูนซีเมนต์ไทย กลุ่มบริษัทปตท. และอื่นๆ อีกมาก
โดยปัจจุบัน eLG ได้ผ่านการทดสอบนวัตกรรมใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วอย่างเป็นทางการ ซึ่งเปรียบเสมือนบททดสอบสำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ eLG จะสามารถใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพและปลอดภัย บีซีไอฯ จึงมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจเอกชน โดยคาดว่า บีซีไอฯ จะสามารถขยายขีดความสามารถในการให้บริการ จนครอบคลุมหนังสือค้ำประกันกว่า 50% ของตลาดได้ภายในปี 2565 หรือคิดเป็นประมาณธุรกรรมกว่า 80,000 รายการ มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะครอบคลุมกว่า 80% ของหนังสือค้ำประกันในประเทศได้ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ บีซีไอฯ ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่บริการทางการเงินใหม่ ๆ ต่อไป ล่าสุด บีซีไอฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาบริการหนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบล็อกเชน (Electronic Confirmation on Blockchain หรือ eBC) ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการให้บริการ ประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี รวมทั้งสำนักงานผู้ตรวจบัญชีชั้นนำ สถาบันทางการเงิน และภาคส่วนองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ข้อคิดเห็นและร่วมออกแบบการทำงานของโครงการ โดยบริการนี้จะเริ่มต้นนำร่องด้วยหนังสือรับรองทางการเงินของธนาคาร (Bank Confirmation) ในระยะแรก ก่อนจะขยายไปยังหนังสือรับรองประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งบริการนี้จะช่วยลดระยะเวลาในขั้นตอนการขอหนังสือรับรองทางการเงินต่าง ๆ อีกทั้งยังได้ข้อมูลที่ครบถ้วน น่าเชื่อถือ ช่วยให้การตรวจสอบบัญชีมีความถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนนำร่องเปิดให้บริการ eBC ดังกล่าว ในไตรมาส 2 ปี 2566 ที่จะถึงนี้
“ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานและองค์ต่างๆ ที่ร่วมสนับสนุนและผลักดัน บริษัท บีซีไอฯ มาอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณสำหรับการสนับสนุนด้วยดีที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อช่วยกันผลักดันการใช้เทคโนโลยี มาเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายกึกก้อง กล่าว
นายสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บีซีไอฯ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่ให้บริการแพลตฟอร์มของบีซีไอฯ กว่า 19 แห่ง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรรัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจเป้าหมายมากกว่า 170 องค์กร และยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจทยอยเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง
“ทุกวันนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และถูกนำมาปรับใช้กับธุรกิจอย่างหลากหลาย ซึ่งตอบโจทย์ทั้งความสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับเอกสารที่เป็นกระดาษลงไปได้มาก ขณะเดียวกันก็มีความปลอดภัยสูง ซึ่งบีซีไอฯ ยังคงมุ่งมั่นเพื่อนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบล็อกเชน ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจ รวมทั้งสร้างความพร้อมสำหรับการเติบโตและแข่งขันในโลกธุรกิจดิจิทัลได้อย่างเข้มแข็ง” นายสิริวัฒน์ กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด หรือสมัครใช้บริการกับบีซีไอฯ ได้ที่ contact@bci.co.th หรือโทร. 0 2029 0200
ข่าวเด่น