พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ซึ่งมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคม
GCNT และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย ตัวแทนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และองค์กรธุรกิจชั้นนำกว่า 100 บริษัท ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปกป้องธรรมชาติ ภายใต้แผนกลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้ ภายใต้แนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพ
งานประชุมผู้นำความยั่งยืน ประจำปี (GCNT Forum 2022) จัดขึ้นทุกปีโดย GCNT ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย ในปีนี้ยังได้รับเกียรติจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมงาน
โอกาสนี้ ซีพีเอฟและบริษัทในเครือซีพี ในฐานะสมาชิกของ GCNT ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม วัดผลและขยายผลได้เพื่อนำไปสู่ทางออกระดับชาติด้วย Climate Action และ Nature Protection โดยมี นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง และนายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้
นายวุฒิชัย กล่าวว่า ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในสมาชิก GCNT ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ และมีส่วนร่วมปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฟื้นฟูบรรเทาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
"สมาชิกของ GCNT ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมุ่งมั่นบริหารจัดการ กำหนดนโยบายและใช้ประโยช์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีระบบในการประเมินและติดตามตรวจสอบคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโอกาส รวมทั้งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030" นายวุฒิชัย กล่าว
พร้อมกันนี้ นายวุฒิชัย ร่วมเสวนาระดมความคิดเห็นกับผู้บริหารองค์กรชั้นนำ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ในการฟื้นฟูและการบรรเทาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกล่าวว่า ซีพีเอฟ กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรมมุ่งสู่ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action รวมทั้งมีเป้าหมายเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net-Zero) ในปี 2050 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และประกาศแนวปฏิบัติในการก้าวสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งในส่วนของแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ การสร้างโรงงานและฟาร์มโดยคำนึงถึงการใช้พลังงานต่ำ หมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและลดการปล่อยของเสียสู่ภายนอก รวมทั้งแนวทางการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Removal) โดยซีพีเอฟได้ประกาศเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ครอบคลุมกิจการซีพีเอฟ รวมถึงคู่ค้าซึ่งจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้แก่ซีพีเอฟ ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และการมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่าและปลูกต้นไม้ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซีพีเอฟ ได้สมัครเข้าร่วมลงนามแสดงความมุ่งมั่นต่อองค์กร Science Based Target Initiatives ในการตั้งเป้าหมาย Net-Zero ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ตามความตกลงปารีส ซึ่งองค์กร Science Based Targets Initiatives เป็นความร่วมมือระหว่าง CDP, United Nations Global Compact, World Resources Institute และ World Wide Fund for Nature โดยตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) มีบริษัทมากกว่า 2,000 แห่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส โดยในส่วนของซีพีเอฟ มีการตั้งคณะทำงานบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ./
ข่าวเด่น