เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ตามคาด พร้อมส่งสัญญาน "การขึ้นดอกเบี้ย" ใกล้ถึงช่วงสุดท้ายแล้ว


 

 

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ตามที่ตลาดคาดการณ์ สู่ระดับ 3.75% - 4.00% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี แต่แม้เฟดจะยังคงดำเนินแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้เหลือ 2% ตามเป้า เฟดกลับได้ส่งสัญญาณอันดีในครั้งนี้ว่า ครั้งต่อไปเฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำลง


นับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 6 ตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.2565 เพื่อเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งในรอบเดือน พ.ย.นี้ ก็เป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ตามอย่างที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ หลังจากที่ได้ปรับจากระดับ 0.50% ไปเป็น 0.75% ในเดือน มิ.ย. ก.ค.และ ก.ย.65

ภายหลังการประกาศการขึ้นดอกเบี้ยคงเดิมทำให้เกิดความผันผวนเล็กน้อยในตลาดลงทุน ค่าเงินบาท ได้อ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 37.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ของตลาดปิดวันที่ 3 พ.ย.65 ก่อนยืนกลับขึ้นมาล่าสุดอยู่ที่ 37.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ด้านเหรียญคริปโต Bitcoin ก็ได้เกิดความผันผวนในช่วงการประกาศโดยใน Time Frame 1 ชั่วโมง มีระดับราคาสูงต่ำอยู่ที่ 20,220 - 28,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 



 
แต่ในช่วงที่สถานการณ์ดูเหมือนจะตึงเครียดเหมือนเคย จนนักลงทุนหลายคนชินชากับภาพความผันผวนของตลาดหุ้นและเหรียญคริปโต การแถลงการณ์ครั้งนี้เฟดได้ส่งสัญญานในแบบที่แตกต่างออกไปจากครั้งก่อน โดยได้ระบุว่า ถึงแม้เฟดจะมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์เงินเฟ้อ แต่เฟดจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เอามาประกอบการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตด้วย ทั้งการคุมเข้มสะสมของนโยบายการเงิน,ความล่าช้าที่นโยบายการเงินส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำลง โดยในรอบการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 14 ธ.ค.2565 มีการคาดการณ์จากตลาดว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลดลงไปที่ระดับ 0.50% โดยนักลงทุนให้น้ำหนัก 52% จากข้อมูลของทาง CME FedWatch Tool ตามภาพ

และข้อมูลจากทาง Nomura วาณิชธนกิจและโบรกเกอร์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่นก็คาดการณ์ว่า จากการแถลงการณ์ เฟดจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ธ.ค. รอบเดือน ก.พ.2566 ที่ 0.50% รอบเดือน มี.ค. 2566 ที่ 0.50% และการขึ้นรอบสุดท้ายของเฟด เดือน พ.ค.2566 ที่ 0.25%
 


 
 
 
ส่วนด้านตัวเลขเงินเฟ้อหรือค่า CPI ล่าสุดที่ออกมาก่อนหน้านี้ ในรอบเดือน ก.ย.อยู่ที่ 8.2% ปรับตัวลดลงมาจากจุดพีกของรอบเดือน มิ.ย.ที่ 9.1% และรอบเดือน ส.ค.ที่ 8.3% แต่ยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 8.1% ซึ่งยังคงห่างไกลจากเป้า 2% ตามที่เฟดวางไว้อยู่มาก จึงอาจเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจของเฟด ที่ยังใช้มาตรการ “ขึ้นแล้วคง” (Hike and Hold) คงระดับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% ติดต่อกันอยู่ จึงต้องจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อรอบเดือน ต.ค. ที่กำลังจะออกมาในวันที่ 10 พ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้ว่า จะอยู่ที่ระดับเท่าใด ซึ่งตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 8.0% หากค่าที่ออกมานั้นไม่ได้สูงกว่าการคาดการณ์ ก็อาจจะยิ่งเป็นปัจจัยบวกที่เฟดจะดำเนินการลดระดับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงตามการส่งสัญญาณดังกล่าว

LastUpdate 06/11/2565 11:19:48 โดย : Admin
01-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 1, 2024, 8:05 am