แบงก์-นอนแบงก์
กรุงไทยชี้เทรนด์ผลิตภัณฑ์จากแมลงพุ่งแรง ก้าวสู่ธุรกิจหมื่นล้าน ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้แนวโน้มผลิตภัณฑ์จากแมลงเติบโตเร็ว และแรง ตามเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหาร  สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้า ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน 

 
 
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ประกอบกับวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ปลุกความกังวลในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมอาหารให้ความสนใจกับอาหารและสารอาหารทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากแมลงได้รับความสนใจยิ่งขึ้น
 
 
“ตลาดดังกล่าวมีปัจจัยหนุนและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีแนวโน้มหันมาบริโภคแมลง ซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีน แร่ธาตุและวิตามินนานาชนิดมากขึ้น อีกทั้งกระบวนการเลี้ยงแมลงยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงวัว สุกร หรือไก่ โดยคาดว่า ตลาดผลิตภัณฑ์จากแมลงของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 จากเดิมที่มีมูลค่าประมาณ 343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564  สำหรับประเทศไทย คาดว่า ในปี 2573 มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์จากแมลงมีโอกาสจะสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท หรือราว 10% จากส่วนแบ่งตลาดโลก ส่วนตลาดในประเทศมีศักยภาพที่จะเติบโตไปอยู่ที่ราว 3.9 พันล้านบาท จากเดิมที่มีมูลค่าราว 620 ล้านบาท ในปี 2564”
 
 
นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากแมลงที่คาดว่าจะเติบโตดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากแมลงที่ผ่านการแปรรูปแล้วเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ผงโปรตีน โปรตีนบาร์ รวมถึงสารสกัดจากแมลงที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเสริม ยาและเครื่องสำอาง หากผู้ประกอบการไทยลงทุนต่อยอดไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผงที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลากหลายจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับรูปแบบดั้งเดิมในกลุ่มแมลงสดหรือแมลงอบแห้ง และหากผลิตเป็นสารสกัดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ราว 10-11 เท่า
 
 
“เริ่มเห็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารหลายราย มีการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่สนใจบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มีคุณภาพสูง ทำให้มีการนำแป้งหรือผงโปรตีนจากแมลงไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนโปรตีน ขณะที่สารสกัดจากแมลงเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตามองในการนำมาต่อยอดเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เวชสำอาง หรืออาหารเสริม โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเทรนด์ Biopharmaceutical และ Biocosmetics ที่จะช่วยผลักดันให้การใช้สารสกัดจากแมลงในอุตสาหกรรมอาหารเสริมและเครื่องสำอางมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น”
 
นายกฤชนนท์ จินดาวงศ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและสามารถอาศัยโอกาสในการเติบโตของตลาดนี้ได้ ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจเพาะเลี้ยงแมลงสมัยใหม่ อาทิ การเพาะเลี้ยงในรูปแบบ Indoor Farming ซึ่งเป็นรูปแบบการเกษตรภายในโรงเรือนที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ผู้ประกอบการธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแมลง โดยเฉพาะในรูปแบบผงและสารสกัด ไปจนถึงผู้ประกอบการในธุรกิจต่อเนื่องที่สามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์แมลงเป็นส่วนประกอบในการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่เน้นตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ธุรกิจอาหารเสริม หรือเวชสำอาง เป็นต้น
 
 
“ผู้ประกอบการที่ต้องการประสบความสำเร็จในตลาดนี้ ควรเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหาร อาหารสัตว์ และธุรกิจการแพทย์ที่มีแนวโน้มเติบโต ประกอบกับควรมีแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอ  และสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นควรศึกษากฎระเบียบและมาตรฐานส่งออกของประเทศคู่ค้า สิ่งสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ตั้งแต่ฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลง โรงงานแปรรูป รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ให้การรับรองมาตรฐานและให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานอาหาร หน่วยงานวิจัย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างยั่งยืน”
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ย. 2565 เวลา : 11:22:07
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 4:53 am